ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ -รมว.สธ.ชี้ สถานการณ์โควิดเมื่อควบคุมได้ตามนโยบาย 3 พอ พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ “โรคประจำถิ่น”  จ่อยกเลิก Thailand Pass  ในคนไทยเข้าประเทศ ส่วนต่างชาติรอสเต็ปต่อไป  ขณะที่หากโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จะยกเลิก พรก.ฉุกเฉินหรือไม่ อยู่ที่ ศบค.พิจารณา ย้ำ! ประกาศยกเลิกพรก.ฯ  เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี  

 

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ว่า วันนี้(7 พ.ค.) ก็ดูดี อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง  ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค(คร.) ว่าหลังผ่านสงกรานต์ไประดับหนึ่ง และได้รับความร่วมมือจากประชาชนระดับนี้อยู่ การติดเชื้อกับการอัตราผู้เสียชีวิต แม้กระทั่งการครองเตียงของผู้ป่วยอาการหนักก็ลดลง ซึ่งตอนนี้เหลือ 20%  ของเตียงที่ใช้อยู่ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือฉุกเฉินที่ใช้ช่วยผู้ป่วยอาการหนักก็ลดลงเช่นกัน เพราะฉะนั้นสอดคล้องกับนโยบาย 3 พอ ของปลัดสธ. คือ แพทย์พอ เตียงพอ และยาพอ  เพื่อไปสู่แนวทางโรคประจำถิ่น แม้จะยังไม่ได้ประกาศ แต่จะเดินไปสู่แนวทางนี้ให้มากที่สุด

“โดยอัตราติดเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาเทียบกับในประเทศไม่ได้ วันนี้มี 9 คน ขณะที่ในประเทศ 9 พันคน ซึ่งเราก็จะติดตามสถานการณ์ไประยะสั้นๆ หากมั่นใจว่าตรงนี้ควบคุมได้ ก็จะผ่อนคลายมาตรการให้มากขึ้น ซึ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ผ่อนคลายมาตรการ เน้นการตรวจ การเปิดโรงเรียนให้ได้ มีการจัดวัคซีนประสานกระทรวงศึกษาธิการ” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามย้ำแสดงว่าสถานการณ์โควิดของไทยตอนนี้ดีขึ้นใช่หรือไม่ และจะมีผ่อนคลายมากขึ้นอย่างไร  นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ยังไม่ได้บอกตัวเองว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เป็นไปตามที่วางแผน สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้นไม่รู้เอาตรงไหนไปวัด แต่หากใช้มาตรการต่างๆ แล้วและผลออกมา ทำให้ควบคุมได้ อยู่ในเฟรม 3 พอ ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิต ทำมาหากินอย่างปกติมากที่สุดก็ถือว่าเป็นแนวทางที่เราดำเนินการ อยู่ในแผนที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้ทุกอย่าง

เมื่อถามว่าการผ่อนคลายมาตรการรับเปิดประเทศมากขึ้นจะทำอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้มีการตรวจ ATK    ส่วนเรื่อง Thailand Pass  ในอนาคตอาจมีการเสนอให้ยกเลิกกรณีคนไทยที่จะเข้ามา โดยไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass  เนื่องจากคนไทยมีสิทธิ์เดินทางเข้าประเทศโดยเสรี แม้จะติดเชื้อก็มีสิทธิ์ได้รับการดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพฯต่างๆ และแม้ไม่มีประกันก็ให้เข้ามา และรักษาตามสิทธิ์  ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ขอให้เป็นทีละสเต็ป ทีละสเต็ปต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีกิจกรรมมากมาย ก็ตาม อยู่ที่ ศบค. แต่การที่ยังพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อน แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน แต่เมื่อมีการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นโดยสมบูรณ์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็คงไม่จำเป็น เพราะถ้าเราติดเชื้อและได้รับการรักษาปกติ เชื้อไม่มีความรุนแรง สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติได้ เพราะตอนแรกที่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะหมอสั่งตรวจหาเชื้อ หรือปิดสถานที่เสี่ยงไม่ได้

เมื่อถามว่า แม้ว่าร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.ยังไม่มีผลบังคับใช้ก็สามารถยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก การประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี ท่านพยายามให้ศบค.มีส่วนร่วม จะขยายต่อ ก็ต้องผ่าน ศบค.

เมื่อถามย้ำว่า ถ้ายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประเทศไทยมีกลไกรองรับกรณีโรคระบาดไว้อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ทางด้านสาธารณสุขนั้น กระทรวงสาธารณสุขพร้อมอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ที่ต้องมีไว้ เพราการเดินทาง การตรวจเชื้อ การแยกกัก การติดตาม การบังคับใช้กฎหมายในการปิดสถานประกอบการต่างๆ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org