ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยพร้อมแค่ไหน...กับมาตรการป้องกัน "ฝีดาษลิง" ระบาด โรคติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิด ทางเดินหายใจ กระทรวงสาธารณสุขเสริมมาตรการคุมเข้ม ทั้งด่านสนามบิน ชายแดน พร้อมสั่งการโรงพยาบาลในสังกัดเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง สังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง ทั้งไข้ ตุ่มน้ำ มาจากประเทศเสี่ยง ล่าสุด 3 ประเทศ "อังกฤษ สเปน โปรตุเกส" ส่วนพบรายงานติดเชื้อมี 17 ประเทศ ขณะที่ไทยยังไม่มีผู้ติดเชื้อ

กลายเป็นอีกโรคติดเชื้อที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต่างจับตามอง กับ "ฝีดาษลิง"  ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัส และทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง ไอ จาม เพศสัมพันธ์ แม้ในอดีตจะเคยพบ แต่มักเกิดในประเทศต้นกำเนิดทางแอฟริกา และเป็นการระบาดแบบกระจุกตัว จากนั้นก็หายไป แต่ล่าสุดกลับมีรายงานในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศยุโรป ซึ่งอาการจะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมื่อยตัว และมีตุ่มขึ้นทั่วตัว

ปัญหาที่ขณะนี้กำลังวิตก เนื่องจากการแพร่ระบาดค่อนข้างเร็วแตกต่างจากอดีต ในขณะที่ยารักษาเฉพาะโรคไม่มี เป็นการรักษาตามอาการ   ซึ่งนักวิจัย แพทย์ต่างเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเทศไทยล่าสุดได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox) เพื่อคัดกรองผู้เดินทางที่มาจากประเทศเสี่ยง  ซึ่งจะช่วยป้องกันการระบาดในประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จึงเกิดคำถามว่า โรคฝีดาษลิง ถือเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ อย่างไร ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 พ.ค.2565 ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้มีการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ถึงการปรับนิยามโรคว่า จะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ ซึ่งจะมีการพิจารณาเกณฑ์ 3 ข้อ คล้ายกับโรคโควิด 

โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) ให้ข้อมูลว่า การพิจารณาเกณฑ์เบื้องต้น คือ  1.เกณฑ์ทางคลินิก ว่ามีอาการอะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง  2. เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ ว่าจะต้องมีการใช้แลปแบบไหน ระดับใด และ 3. เกณฑ์ทางระบาดวิทยา จะต้องมีประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยง ว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ประกาศใช้ได้นาน อย่างไรก็ตาม ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมีการหารือกันก่อน เพราะที่ผ่านมา โรคฝีดาษลิงไม่มีมาก่อนในประเทศไทย  

“การจะบอกว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายต้องมีการกำหนดเกณฑ์ก่อน ให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเข้าได้ตามเกณฑ์หรือยัง แล้วกรรมการผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เสนอกรรมการชาติ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบ ” นพ.จักรรัฐ กล่าว 

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศยกระดับ มีเพียงการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีการระบาดผิดปกติ ในยุโรป ต้องติดตามใกล้ชิด คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็วๆ นี้และพิจาณราตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่จากการติดตามในช่วง 2-3 วันมานี้ตัวเลขไม่ได้ขึ้นเยอะ ยังต้องติดตามต่อไปในระยะนี้  

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องเฝ้าระวัง  3 ประเทศหลักๆ ที่มีการระบาดในประเทศ คือ อังกฤษ  สเปน และโปรตุเกส ส่วนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อมี  17 ประเทศ เบื้องต้นถ้ามาจากประเทศเสี่ยง มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หากเดินทางเข้ามาในไทยจะขอส่งตรวจเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง และใช้เวลา 24-48 ชั่วโมงทราบผล  แต่ขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสเสี่ยงโรคนี้แต่อย่างใด

(แฟ้มภาพกระทรวงสาธารณสุข)

มีคำถามถึงมาตรการเฝ้าระวัง "ฝีดาษลิง" ระบาดในไทย..

- นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox) หรือฝีดาษวานร ซึ่งเป็นไปตามที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ท่านปลัดสธ. และอธิบดีกรมควบคุมโรคได้สั่งการลงมาว่า ต้องดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันโรคนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่คนไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ  เราได้เริ่มต้นให้มีการเฝ้าระวังทั้งในส่วนด่านควบคุมโรค สนามบินต่างๆ ไฟท์บินต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงสูง 

"และเรายังยกระดับการเฝ้าระวัง ท่านปลัด สธ. ได้มีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวังโรคนี้ รวมถึงกำลังประสานงานคลินิกเฉพาะทาง สำหรับแพทย์ที่ทราบลักษณะอาการให้เฝ้าระวังช่วยกันทั้งหมด เน้นการรายงานโรค เพื่อนำไปสู่การรักษา ขณะที่การตรวจเชื้อ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีศักยภาพในการตรวจเชื้อด้วย RT-PCR คล้ายโควิด แต่จะมีน้ำยาตรวจเฉพาะฝีดาษลิง รวมทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยก็สามารถตรวจเชื้อนี้ได้" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ ไข้ทรพษ หรือฝีดาษลิง เริ่มต้นที่แอฟริกา และมีการระบาดในยุโรป และอเมริกาก็พบ  แต่ยุโรปเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จึงต้องเฝ้าระวัง โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะได้รับคิวอาร์ โคด ในการตรวจสอบอาการของตัวเอง หากสงสัยก็จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ อันนี้คือแผนที่วางไว้ และมีการสั่งการให้ดำเนินการส่วนนี้ โดยหนังสือกำลังส่งไปยังรพ.ในสังกัดทั้งหมด  

เมื่อถามว่าหากเกิดอาการไข้ โดยที่ยังไม่มีตุ่มขึ้น เป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่....

- ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า เริ่มแพร่ได้ แต่ไม่มากเท่ากับตอนมีตุ่มน้ำขึ้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นก็จะต้องมีการวัดอุณหภูมิที่ 37 องศา ที่หน้าด่านสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งหากมีไข้ ก็จะมีการตรวจอาการอื่นร่วมด้วย สิ่งสำคัญต้องเน้นคือ มีประวัติเสี่ยง เพราะหากมีไข้ ตุ่มน้ำ ก็ไม่ใช่ว่าจะฝีดาษทั้งหมด และตอนนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว ซึ่งก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากต่างประเทศ  

เมื่อถามว่าตอนนี้การเฝ้าระวังมุ่งไปที่สนามบิน อย่างชายแดนติดไทยต้องมีมาตรการอย่างไร 

- นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า  การติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ฝั่งยุโรป และอเมริกา เข้ามาทางเครื่องบินมากกว่า แต่กรณีชายแดนอย่างไปลงต่างประเทศ และข้ามมาไทยก็จะเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ เวลามีตุ่มน้ำขึ้นเขาจะไปโรงพยาบาล 

ขณะนี้ทราบหรือไม่ว่า ฝีดาษลิง มีระยะฟักตัวของเชื้อกี่วัน...

- นพ.จักรรัฐ ตอบว่า ระยะฟักตัวของโรคนี้อยู่ที่ 5-21 วัน สมมติหากติดเชื้อวันนี้ อีก 5 วันจะเริ่มมีอาการ และยาวสุดถึง 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ ซึ่งมาตรการกักตัวต้องหารือกันอีกครั้งว่า จะกักตัวอย่างไรให้เหมาะสม อันนี้กรณีที่ผลตรวจ RT-PCR ยืนยัน และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย

ส่วนกรณีคนไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ ต้องมีการระมัดระวังโรคนี้อย่างไร... 

- นพ.จักรรัฐ  ฝากถึงคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเสี่ยงสูงแถบยุโรป ว่า    อันดับแรก ต้องระมัดระวังตัวเองในการใกล้ชิดผู้อื่น เพราะการติดเชื้อนี้ยังเป็นลักษณะสัมผัสใกล้ชิดมากๆ การรวมกลุ่มกิจกรรมในคนหมู่มากจึงต้องระมัดระวัง  และต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เรียกว่ามาตรการ UP ยังต้องปฏิบัติ 

"หากกลับมาไทยแล้วอาการยังไม่ออก แต่เมื่อเริ่มมีอาการสงสัย ให้รีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ และขอให้แจ้งว่า มีประวัติเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย.." นพ.จักรรัฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : 

-ไทยยกระดับเฝ้าระวัง "ฝีดาษลิง" ป้องกันเข้าประเทศ  พร้อมชูศักยภาพแลปกรมวิทย์-จุฬา ตรวจหาเชื้อ

-หมอจุฬาฯ แนะ "สวมแมสก์ - เครื่องวัดอุณหภูมิ"  ยังจำเป็น! ป้องกัน "ฝีดาษลิง" โรคที่ยังไม่มียารักษา

-คร.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง 

-แพทย์ผิวหนังเตือนฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต

-จับตาการระบาดของฝีดาษลิงที่กำลังทับซ้อนการระบาดโควิด

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org