ไขข้อสงสัย! อาการฝีดาษวานรร่วมเอชไอวี รุนแรงหรือไม่ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกศึกษายา Tecovirimat รักษาฝีดาษวานร ไทยได้รับ 100 ราย กรมควบคุมโรคเผยเกณฑ์จ่ายยา Tecovirimat ให้ผู้ป่วยฝีดาษวานรกรณีติดเชื้อเอชไอวีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ พร้อมเก็บข้อมูล ชี้ไทยเป็น 1 ในราวๆ 10 ประเทศที่ได้รับยา
ประเด็นฝีดาษวานร ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อล่าสุดประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากฝีดาษวานรเป็นรายแรก...
โดยเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีผื่นและตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา แพทย์สงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร จึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษวานร และขณะเดียวกันยังตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี กระทั่งผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษวานรกระจายทั่วตัว พบภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขนและขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อ มล. แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรคพบผู้ป่วยฝีดาษวานร เสียชีวิตรายแรกในไทย)
กรณีที่เกิดขึ้นหลายคนสงสัยว่า เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรจะยิ่งรุนแรงขึ้นในกรณีผู้ป่วยเอชไอวีใช่หรือไม่...และแนวโน้มการใช้ยารักษาโรคดังกล่าวเป็นอย่างไร
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลถึงประเด็นผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือโรคฝีดาษลิง (MPox) ว่า ปัจจุบันโรคฝีดาษวานรแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (clade 2) และ สายพันธุ์แอฟริกากลาง (clade 1) ที่มีความรุนแรงของโรค ทำให้เสียชีวิตได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรในไทยยังเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่มีความรุนแรงน้อยโอกาสเสียชีวิตจะน้อยกว่า แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์แอฟริกากลาง
ติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมเอชไอวีมี 2 กลุ่ม
ส่วนการติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมกับการติดเชื้อไอเอชวี จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่ได้รับยาต้านไวรัส สามารถควบคุมระดับภูมิคุ้มกันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรก็จะมีอาการของโรคฝีดาษ คือ เป็นตุ่มหนอง ลักษณะคล้ายฝีเล็กๆ กระจายตามร่างกาย
2.กลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีการติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำมาก เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย จะทำให้ตุ่มหนองมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นกระจุกๆ มีจำนวนตุ่มฝีเยอะด้วย
“การเสียชีวิตอาจเกิดได้จากเชื้อเอชไอวี แต่ด้วยลักษณะที่ติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วยทำให้อาการที่แสดงออกมาจะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยหรือติดเชื้อเอชไอวีแต่คุมได้ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเสียชีวิตจากเชื้อตัวไหน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
ภาพจากกรมควบคุมโรค
องค์การอนามัยโลกศึกษายา Tecovirimat รักษาฝีดาษวานร ไทยได้รับ 100 ราย
สำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย จะใช้การรักษาคู่กันไปด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี แต่เชื้อฝีดาษวานรปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะก็จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังศึกษาการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรที่เรียกว่า Tecovirimat ขณะนี้ยังมี 1 ตัวยาจากบริษัทผู้ผลิตเดียว ซึ่งประเทศไทยได้รับยาดังกล่าวมา 100 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้และเก็บข้อมูลที่สถาบันบำราศนราดูร
เกณฑ์จ่ายยา Tecovirimat กรณีติดเชื้อเอชไอวีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ
โดยเกณฑ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรที่จะได้รับยา คือ มีการติดเชื้อเอชไอวีที่ระดับภูมิคุ้มกันต่ำ มีการภาวะแทรกซ้อนจากโรคฉวยโอกาส ผู้ที่ปอดอักเสบร่วมด้วย ซึ่งยาชนิดนี้เป็นชนิดรับประทาน ผู้ป่วย 1 คนจะกินเพียง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลการใช้จริงในประเทศไทย รวมถึงข้อมูลผลข้างเคียงจากการได้รับยาด้วย
กลุ่มป่วยฝีดาษวานรแต่ไม่ติดเอชไอวีร่วมให้รักษาตามอาการ รักษาหาย 2-4 สัปดาห์
เมื่อถามว่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรที่ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วม หรือติดเชื้อเอชไอวีที่ระดับภูมิคุ้มกันสูง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส TPOXX หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไม่มีความเสี่ยง สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ซึ่งโรคจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์แล้วก็จะหายได้เอง
ยังไม่พบเสี่ยงติดเชื้อร่วมบ้าน แบ่งความเสี่ยงเป็น 3 ระดับ
ถามต่อถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษวานรกับผู้อยู่ร่วมบ้านกับคนติดเชื้อ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีการติดเชื้อร่วมบ้าน ทั้งหมดยังเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัส หรืออยู่ร่วมบ้านกันแล้วมีเพศสัมพันธ์กัน โดยความเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1.สัมผัสแนบชิด เช่น การมีกิจกรรมทางเพศ ที่แม้จะสวมถุงยางอนามัย ก็ติดเชื้อได้เพราะตุ่มหนองของผู้ป่วยอาจจะโดนผิว ทำให้เกิดการติดเชื้อ
2.สัมผัสใกล้ชิด เช่น นอนเตียงร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน การอยู่ใกล้กันหรือแค่จับมือกัน ความเสี่ยงจะลดลงมา
3.สัมผัสทางอ้อม เช่น ผู้ป่วยไปนอนโรงแรม แล้วพนักงานมาทำความสะอาดห้อง การกินเลี้ยงทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้มากจนแนบชิดกัน การนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกัน
รองอธิบดีคร.เผยไทย 1 ใน10ประเทศรับยารักษาฝีดาษวานร
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับยาต้านเชื้อไวรัสฝีดาษวานร เดิมเคยมีการขึ้นทะเบียนในยุโรปเมื่อปี 2565 เพื่อใช้รักษาโรคฝีดาษในคน (Small pox) แต่เมื่อพบโรคฝีดาษวานรก็ได้มีการนำใช้รักษา ปรากฎว่าได้ผลดี จึงมีการนำมาใช้กับฝีดาษวานร ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ทำโครงการวิจัยยาตัวนี้อยู่ ประเทศไทยคือ 1 ในราวๆ 10 ประเทศ ที่ได้รับยาชนิดนี้มาใช้และเก็บข้อมูล
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค
- 1959 views