ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค แนะนำผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรกินยาต้านไวรัสต่อเนื่อง ส่งผลให้กดเชื้อไวรัสได้ เตือนหากหยุดกินยา เสี่ยงโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหากติดโรคฝีดาษวานร 

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2566) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ 500,000 คน ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ประมาณ 457,000 คน (ร้อยละ 90) และกดปริมาณไวรัสสำเร็จ ประมาณ 445,000 คน (ร้อยละ97) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก ทั้งที่รู้สถานะและไม่รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง ไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา และรักษาไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้เสี่ยงโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหากติดโรคฝีดาษวานร

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยใช้ยาต้านไวรัสเป็นสูตรหลักของการรักษาเอชไอวี ได้ผลในการควบคุมเชื้อเอชไอวีดีที่สุด มีผลข้างเคียงน้อย กินง่าย โดยยาจะไปยับยั้งการแบ่งตัวและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี หากผู้ติดเชื้อกินยาตรงเวลาทุกวัน ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะกดเชื้อไวรัสให้มีจำนวนน้อยลงถึงระดับที่ตรวจเลือดไม่พบเชื้อเอชไอวี และไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ การตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวี หมายถึงยาต้านไวรัสได้กดเชื้อเอชไอวีจนเหลือน้อยมาก แต่เชื้อเอชไอวียังหลบซ่อนตัวอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น ในสมอง ต่อมน้ำเหลือง หรือลำไส้ เป็นต้น ดังนั้น หากผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่กินหรือหยุดกินยาต้านไวรัส อาจทำให้จำนวนเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันลดลง มีโอกาสเสี่ยงโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะ ฝีดาษวานร ที่ขณะนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความเสี่ยงเมื่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีระดับจำนวนเม็ดเลือดขาว ซีดี 4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ติดโรคฝีดาษวานร จะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 15 

จึงมีคำแนะนำ ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดกินยาเอง และอย่าหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่รักษาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน พร้อมแนะนำหากเคยตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วยังไม่รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ให้รีบเข้ารับการรักษาทันที รักษาฟรี ทุกสิทธิการรักษา เพื่อให้มีระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันซีดี 4 เกิน 200 เซลล์/ลบ.มม. ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคฉวยโอกาส นอกจากนี้ แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดโรคฝีดาษวานร