ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ออกประกาศการนำใบกัญชาใช้ปรุงอาหารของกิจการร้านค้า ร้านอาหารทั้งหมด ย้ำ! ต้องมีคำเตือนให้ผู้บริโภคทราบ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายห้ามปรุงเกินกำหนด ห้ามแสดงสรรพคุณหรือโฆษณาว่าป้องกันหรือรักษาโรคได้

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงข้อกังวลในการประกอบอาหารที่ผสมกัญชา อาจไม่เหมาะสมกับทุกคน เนื่องจากบางรายมีอาการแพ้ ว่า  ขณะนี้ กรมอนามัย  โดยสำนักโภชนาการออกข้อคำแนะนำการนำใบกัญชามาปรุงอาหาร ทั้งแบบปรุงสด ต้ม นึ่ง และทอด ว่าใน 1 เมนูควรใช้ 1-2 ใบ โดยเราคำนวณปริมาณที่ควรได้รับว่าไม่ควรรับประทานอาหารและเครื่องดื่มผสมกัญชาเกิน 2 เมนูต่อวันกรณีที่กินจนหมด แต่หากกรณีเป็นกับข้าวหลายเมนู รับประทานอย่างละเล็กน้อย ก็จะดูสัดส่วนโดยรวมที่ร่างกายไม่ควรได้รับเกินปริมาณ ทั้งนี้ แนะนำให้สั่งเมนูที่ไม่มีกัญชาด้วยเพื่อให้รับประทานครบหมู่อาหาร หรือถ้าทุกเมนูมีกัญชา ก็ไม่ควรกินจนหมดในทุกเมนู และไม่ควรกินก่อนขับขี่ยานพาหนะ ทำงานใช้เครื่องจักร หรืออยู่ในที่สูง

“ประกาศกรมอนามัยกำหนดให้ 1.ร้านอาหารมีคำเตือนให้ผู้บริโภคทราบ  2.ผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร ผู้เสิร์ฟ ต้องมีความรู้ เพื่อแนะนำและเตือนไม่ให้กินเกินกำหนด จริงๆ มีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็จะเข้มขึ้น” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

เมื่อถามถึงวิธีสังเกตอาการแพ้กัญชา และวิธีล้างพิษ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่รู้สึกอะไร ซึ่งไม่น่ากังวล 2.กลุ่มที่มีความไวมาก อาการแพ้ หน้าแดง ผื่นขึ้น จนหายใจไม่ออก มีอาการเฉียบพลัน กลุ่มนี้ต้องออกคำเตือนห้ามกินอาหารผสมกัญชา และ 3.กลุ่มที่ต้องใช้เวลาแสดงอาการ หรือต้องกินมาๆ ถึงแสดงอาการ กลุ่มนี้ต้องจำกัดปริมาณการกิน ทั้งนี้ ร้านอาหารต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ใส่กัญชาเยอะ เพื่อหวังเชิญชวนผู้บริโภค

“ร้านอาหารต้องติดป้ายว่าเมนูไหนใส่กัญชามากน้อยอย่างไร ผู้บริโภคที่เริ่มกินอะไรที่ไม่คุ้น ก็จะไม่เริ่มจากปริมาณมากๆ ฉะนั้นก็ให้เริ่มชิมๆ แตะๆ เพราะบางคนไวมาก แค่ชิมก็มีอาการ ส่วนวิธีการแก้ไขอาการแพ้กัญชา ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและลักษณะของอาการ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้(14มิ.ย.) กรมอนามัยได้ออกประกาศ เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่   9 มิ.ย.65 กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย โดยสถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ  และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่ 

1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา 
2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด 
3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู 
4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ 
5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม , สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน , หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที , ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (CBD) ควรระวังในการรับประทาน , อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล 
 6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง