งานวิจัยพบ การติดเชื้อโควิดจากสายพันธุ์โอไมครอน สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ชี้ไวรัสพัฒนาตัวเองหลบหลีกภูมิคุ้มกันเก่งขึ้น แต่วัคซีนยังคงเป็นคำตอบในการลดการติดเชื้อ
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิมที่พบในช่วงการระบาดครั้งแรกในประเทศอัฟริกาใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา สามารถติดเชื้อได้ใหม่ ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบโดส หรือรวมถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วก็ตาม จากการศึกษาของงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเนเจอร์
นักวิจัยจากจีนพบว่าคนไข้ที่ได้รับวัคซีนและติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน BA.1 จะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 จากสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่สายพันธุ์ย่อยโอไมครอนที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบันมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนชนิด BA.2.12.1 ซึ่งระบาดมากในสหรัฐอเมริกา สายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.5 และ BA.4 พบจุดที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ของโอไมครอน ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวพบในอัตราส่วน 21% ของการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา
โดยในการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สายพันธุ์ย่อยรุ่นใหม่มีความสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือจากการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม การทดลองพบว่ายาที่สกัดจากแอนติบอดี้ที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดในการรักษาโรคโควิด สามารถจัดการสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 และ BA.4/BA.5 ได้ แต่สำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 เช่น ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค และ โมเดอน่า อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดจากสายพันธุ์โอไมครอนย่อยชนิดใหม่ๆได้
งานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ ได้ระบุว่าคนที่ติดเชื้อจากสายพันธุ์โอไมครอนและไม่ได้รับวัคซีน อาจจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้
ดร. ออนยีมา อองบัวกู นักวิจัยด้านโรคติดเชื้อ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า ในขณะที่ทุกคนกำลังรอวัคซีนที่พัฒนามาจากสายพันธุ์โอไมครอนโดยตรง มันจะเหมาะสมกว่าที่จะใช้วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในการเป็นทั้งเข็มหลักและเข็มกระตุ้นในการป้องกันการติดเชื้อ และถึงแม้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนชนิดใหม่ๆ จะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ วัคซีนก็ยังสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้ และสิ่งที่สำคัญคือจะต้องคงประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มหาวิทยาลัย คิงส์ คอลเลจ กรุงลอนดอนทำการสำรวจข้อมูลของผู้ที่ติดเชื้อโควิดจำนวน 100,000 ที่ลงข้อมูลการติดเชื้อในแอพลิเคชั่น พบว่ามีเพียง 4% ของผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการภาวะโควิดระยะยาว ซึ่งน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ 10%
ดร.เควิน แมคคอนเวย์ อาจารย์ด้านสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัยโอเพ่น กล่าวว่า สายพันธุ์โอไมครอนมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่จำนวนผู้มีอาการโควิดระยะยาวค่อนข้างต่ำ แต่การศึกษาดังกล่าวไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า ภาวะโควิดระยะยาวจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยกับสายพันธุ์โควิดชนิดอื่นๆอย่างไร
ในขณะที่ ดร. แคล สตีฟ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลีดส์ กล่าวว่า สายพันธุ์โอไมครอนอาจจะก่อให้เกิดภาวะโควิดระยะยาวน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่หนึ่งใน 23 คนที่ติดเชื้อโควิด มีอาการป่วยนานกว่า 4 สัปดาห์ มีการคาดการณ์ว่ากันว่า ประชากรอย่างน้อย 2 ล้านคนมีภาวะโควิดระยะยาวในประเทศอังกฤษ
ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อโควิดมักจะไม่มีอาการรุนแรง และฟื้นตัวได้เร็ว แต่บางคนมีปัญหาด้านสุขภาพบางประการหลังจากหายจากอาการป่วยจากภาวะโควิดระยะยาว ถึงแม้ยังไม่มีการให้คำจำกัดความของภาวะดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ได้มีคำแนะนำให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับภาวะดังกล่าว โดยให้คำจำกัดความว่า ภาวะโควิดระยะยาว หมายถึงอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุการเกิดได้ ซึ่งอาการดังกล่าวประกอบไปด้วย อาการเหนื่อยง่าย หายใจสั้นลง ปวดหรือแน่นหน้าอก มีปัญหาด้านความจำ การรับรู้ด้านกลิ่นและรสที่เปลี่ยนไป รวมถึงอาการเจ็บข้อต่อ เป็นต้น
เกี่ยวกับภาวะโควิดระยะยาวนั้น มีการศึกษาจากหน่วยงานความมั่นคงทางด้านสุขภาพของอังกฤษ พบว่าคนที่ได้รับวัคซีนจะมีภาวะดังกล่าวน้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยศึกษาจากงานวิจัย 15 ชิ้นทั่วโลก โดยมีประเด็นผลการวิจัยที่น่าสนใจ เช่น การให้วัคซีนหลังจากติดเชื้อแล้ว จะสามารถลดภาวะโควิดระยะยาวได้ เป็นต้น
ดร. แมรี่ แรมเซย์ หัวหน้าระบบภูมิคุ้มกัน จากหน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพ กล่าวว่า วัคซีนเป็นตัวป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด รวมถึงลดภาวะโควิดระยะยาว โดยส่วนใหญ่ภาวะดังกล่าวจะหายไปเอง แต่ในบางคนอาจมีอาการรุนแรง และถ้ามีอาการเกินสี่สัปดาห์หลังติดเชื้อ ควรพบแพทย์ทันที
Sources: Vaccinated less likely to develop long Covid, BBC
Long Covid’risk lower with Omicron, Study finds, BBC
Early Omicron infection unlikely to protect against current varaint, Reuters
Photo : https://www.reuters.com/news/picture/early-omicron-infection-unlikely-to-prot-idUSKBN2NY1NI
- 11129 views