ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์เล็งร่วม รพ.ขนาดใหญ่วิจัย "ตรวจเลือดหาสารกัญชาในร่างกายมนุษย์"  หวังรวบรวมเป็นข้อมูลปริมาณแค่ไหนส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ย้ำ! 1 ก.ค.นี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯทั่วประเทศสามารถตรวจได้หมอ ส่วนเกณฑ์ข้อกำหนดกลุ่มอาการแบบไหนถึงส่งเลือดตรวจได้นั้น อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมอายุรแพทย์ จิตแพทย์ และแพทย์สาขาเกี่ยวข้อง หากใครร่วมวิจัยไม่คิดค่าตรวจ นอกเหนือจากนั้นคิดเทสละ 1.4 พันบาท

ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดตัวชุดตรวจ Test Kann (เทส กัญ) หาสารสกัด-น้ำมันกัญชา THC เกิน 0.2% แต่ตรวจในอาหารไม่ได้ ต้องรองานวิจัยในอนาคตนั้น ปรากฎว่า ยังเกิดคำถามกรณีมีเครื่องมือ หรือวิธีการตรวจหาสาร THC ในร่างกายมนุษย์หรือไม่ว่า มีสาร  THC ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่นั้น

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดชุดตรวจ Test Kann (เทส กัญ) หาสารสกัด-น้ำมันกัญชา THC เกิน 0.2% แต่ตรวจในอาหารไม่ได้)

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ที่โรงแรมริชมอนด์  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 30  ว่า   การตรวจในร่างกายมนุษย์ เพื่อพิสูจน์ว่ากินหรือเสพกัญชาแล้วเกิดอาการหลากหลาย ทั้งประสาทหลอน ใจสั่น หัวใจหยุดเต้น เกิดจากกัญชามากไปหรือไม่ การตรวจมีทั้งตรวจจากปัสสาวะ แต่มีข้อเสีย คือ การตกค้างอยู่ในปัสสาวะอยู่ได้นาน แม้จะหยุดกินหรือเสพไปแล้ว จึงไม่ตอบโจทย์ อีกวิธี คือ การเจาะเลือด ซึ่งจะสามารถตรวจหาสารกัญชาในเลือดได้ว่า ณ ขณะนั้น มีสารตกค้างแค่ไหน แต่ทั่วโลกยังไม่มีรายงานว่า ความเข้มข้นของกัญชาในเลือดเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่า มีปัญหา เพราะแต่ละคนมีการตอบสนองต่อกัญชาไม่เหมือนกัน เช่น บางคนกินคุกกี้ผสมกัญชาเล็กน้อยก็เวียนหัว ใจสั่น บางคนกินเป็นกล่องยังไม่เป็นอะไร 

"ดังนั้น เมื่อยังไม่มีรายงานวิชาการยืนยันมากพอ ทางกรมวิทย์ จึงวางแผนทำวิจัยเรื่องนี้ โดยจะร่วมมือกับโรงพยาบาลใหญ่ๆทั่วประเทศ ที่มีคนไข้มีผลจากกัญชามารักษา โดยจะให้ทางโรงพยาบาลส่งเลือดมาให้ทางกรมวิทยาศาสตร์ฯตรวจสอบ ซึ่งเลือดที่ใช้จะเป็นพลาสมา โดยต้องนำมาปั่นเพื่อให้ได้พลาสมา จะมีเครื่องมือในการตรวจ โดยหมอต้องเจาะเลือดและปั่นเลือดภายใน 2 ชั่วโมง ในปริมาณ 1.5-2 ซีซี  การตรวจมีความแม่นยำสูงมาก บอกได้ว่ามี THC หรือ CBD กี่มิลลิกรัม ค่าตรวจคิดต้นทุนแล้ว 1,400 บาทต่อเทส ส่วนในอนาคตต้องหารือว่า สปสช.จะจ่ายหรือไม่ หรือหาเป็นโครงการวิจัยก็จะตรวจให้ฟรี" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า การตรวจหาสารกัญชาในเลือด เพื่อเก็บข้อมูลของคนไทย จะได้ทราบในอนาคตว่า ปริมาณเท่าไหร่จะส่งผลอย่างไร และเป็นข้อมูลให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายปริมาณยากัญชาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย สมมติคนไข้มาหัวใจวาย หรือประสาทหลอน เมื่อเจาะเลือดและพบสาร THC เราก็จะได้เรียนรู้ได้ว่า ต้องใช้อย่างไร เป็นการตรวจเพื่อยืนยันทางการแพทย์  

"ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป  หากมีตัวอย่างก็จะประสานกับรพ.ต่างๆ ให้เจาะเลือดและปั่นพลาสมามาส่งทางกรมวิทย์ ค่าตรวจ 1,400 บาท ยกเว้นเป็นงานวิจัย แต่หาก รพ.ใดมีเครื่องตรวจก็จะช่วยพัฒนาให้ตรวจได้เอง โดยไม่ต้องส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ " นพ.ศุภกิจ กล่าว

** ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีหลักเกณฑ์ให้กับโรงพยาบาลเพื่อส่งตรวจตัวอย่างหากัญชาในเลือดอย่างไร  นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นงานวิจัยในมนุษย์ จึงต้องทำโครงร่างวิจัย โดยร่วมมือกับหมอที่เกี่ยวข้อง ทั้งอายุรแพทย์ จิตแพทย์ เพื่อหารือกันว่า จะมีข้อกำหนดผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการส่งตรวจอย่างไร แต่การทำวิจัยในมนุษย์ต้องผ่านกระบวนการคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อให้เห็นชอบเรื่องนี้ ซึ่งใครที่ทำในโครงการวิจัยจะเป็นการตรวจให้ฟรี นอกเหนือจากนั้นจะมีค่าใช้จ่าย
 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง