ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลสกลนคร ชูระบบการรักษาแบบใหม่ผ่านเครือข่ายบริการสุขภาพ ยก รพ.ไปที่บ้าน ช่วยลดเวลาการรักษา กู้ชีวิตผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผ่านมาตรฐานรับรอง HA ทำงานแบบไร้รอยต่อ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาแม้โควิดระบาด ไม่กระทบ! ขณะที่ประเด็นถ่ายโอน รพ.สต.ไปท้องถิ่นไม่ใช่ปัญหา เหตุทำงานผ่านเครือข่ายในระดับพื้นที่ ดูแลเหมือนครอบครัว

    

 "ปัญหาของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือ รักษาไม่ทัน เข้าถึงบริการช้า ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง ทีมแพทย์ รพ.สกลนคร ได้มีการทบทวน และจัดตั้งเป็นระบบเครือข่ายลดขั้นตอนการวินิจฉัยโรค ไม่ต้องส่งห้องฉุกเฉินเพื่อทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  แต่เรายก รพ.ไปที่บ้าน วินิจฉัยเบื้องต้นก่อนส่งมารักษาที่ รพ. " 
    

นพ.สมโภช ธีระกุลภักดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) สกลนคร กล่าวระหว่างให้การต้อนรับทีมสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)  นำโดย พญ.ปิยวรรณ  ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. หรือ HA  พร้อมสื่อมวลชนลงพื้นที่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการจัดตั้งเครือข่ายฯ เพื่อผู้ป่วยจนได้รับการรับรองมาตรฐานระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ (Healthcare Network System Accreditation : HNA)  

    สำหรับระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ ของ รพ.สกลนคร  เป็นการทำงานเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันให้เข้าถึงบริการอย่างทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพ โดยมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย มี รพ.สกลนคร เป็นแม่ข่าย และมีรพ.อื่นๆ ในเขตสุขภาพที่ 8 เป็นลูกข่ายในการดำเนินการเครือข่ายโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการเป็น “เครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพจังหวัดสกลนคร เป็นผู้นำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแบบไร้รอยต่อ” 
    

นพ.ขชล  ศรียายาง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หนึ่งในทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคหัวใจ อธิบายการทำงานแบบเครือข่ายฯจนผ่านการรับรองของ สรพ. ว่า อัตราการเสียชีวิตเฉียบพลันในคนไข้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาพรวมทั้งประเทศไม่ได้ลดลงมาก เนื่องจากคนไข้ส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ว่า การเจ็บหน้าอกแบบไหนต้องไปรพ. เพื่อวินิจฉัย ซึ่งจะแตกต่างจากคนไข้ที่โรคค่อยเป็นค่อยไป สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการเข้าถึงบริการล่าช้า กว่าจะมาถึงรพ. กว่าจะเปิดหลอดเลือดได้ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ทั้งภาวะหัวใจล้มเหลว การเต้นหัวใจผิดจังหวะ ล้วนมีผลต่อการเสียชีวิตและทุพพลภาพที่ตามมา

 
    ดังนั้น ปัญหาคือ การเข้าถึงบริการล่าช้า การส่งต่อผุ้ป่วยล่าช้า การเสียชีวิตขณะดูแลเคสมีภาวะซับซ้อน หรือระหว่างการส่งต่อ แม้แต่ระยะการเดินทางกว่าจะมาถึงรพ.ใช้เวลานานเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาทั้งสิ้น  ทีมรพ.สกลนคร จึงร่วมกับเครือข่ายต่างๆในพื้นที่ พัฒนาระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว และลดอัตราการเสียชีวิต  ซึ่งจากการทำงานเป็นเครือข่ายพบว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 - มี.ค. 2565  สามารถลดอัตราตายของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ถึง 9.57% จากข้อมูลระดับประเทศอัตราเสียชีวิตที่ 10.11% 

     "ที่ผ่านมา เมื่อคนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะกว่าจะมารพ.อาจเสียเวลาและไม่ทันท่วงที เราจึงใช้วิธียกโรงพยาบาลไปที่บ้าน คือ เมื่อคนไข้ติดต่อไปยังหน่วยบริการใกล้บ้าน ว่า มีอาการเจ็บหน้าอก จะมีทีมพยาบาลออกไปหาที่บ้าน และให้การวินิจฉัย  เพื่อลดขั้นตอนมาที่รพ. ซึ่งปัจจุบันมีรพ.นำร่องเรื่องนี้ 3 แห่ง คือ รพ.กุดบาก รพ.พังโคน และรพ.อากาศอำนวย ซึ่งเป็นรพ.ลูกข่ายของรพ.สกลนคร ไปทำการวินิจฉัยเบื้องต้นก่อน โดยมีทีมที่ปรึกษาตลอด จากนั้นจึงส่งตัวมายัง รพ. เพื่อทำการเปิดหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการทำเช่นนี้จะลดขั้นตอน และลดอัตราการเสียชีวิตได้"
 

 แฟมภาพการทำงานผ่านเครือข่ายบริการสุขภาพของ รพ.กุดบาก (ขอบคุณภาพจากรพ.สกลนคร) 

 

   สิ่งสำคัญของการทำงานผ่านเครือข่ายฯ คือ ต้องแม่นยำ และรวดเร็ว เพื่อให้คนไข้เข้าถึงการรักษาเร็วที่สุด  ปัจจุบัน รพ.สกลนครได้กระจายยาละลายลิ่มเลือดไปยังรพ.ชุมชน ในเขตสุขภาพอย่างครอบคลุม เพื่อให้คนไข้ที่จำเป็นต้องรับยาละลายลิ่มเลือดได้ยาทันภายในเวลากำหนด อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญต้องมีการวินิจฉัย ซึ่งเรามีคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และมีอายุรแพทย์ประจำในรพ.ชุมชน มีหมอหัวใจให้คำปรึกษาตลอดเวลา ทั้งหมดลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยได้เหลือ 8-9% จากเดิมกว่า 10% ไปจนถึง 12% ทั้งนี้ รพ.ตั้งเป้าปี 2565  จะต้องมีการเปิดหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (STEMI) ให้ได้ 90%  ต้องมีการรักษาผู้ป่วยให้ได้ตามมาตรฐานเวลาที่กำหนด อย่างการให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 30 นาที อัตราการตายต้องน้อยกว่า 9% 

    "เห็นได้ว่า Golden Period  หรือช่วงเวลาสำคัญของการรักษาและการฟื้นฟู เป็นช่วงเวลาทองของผู้ป่วยต้องทำให้ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เจ็บหน้าอก จนเข้าสู่กระบวนการรักษาช่วยชีวิตคนไข้ให้ได้ ซึ่งการจะมาถึงไม่ใช่แค่ รพ. ต้องร่วมกันหมด ทั้งประชาชน คนไข้ต้องช่วยกัน  เครือข่ายจึงมีความหมายมากเรื่องนี้ แต่ทั้งหมดเป็นการรักษาปลายเหตุ มันตีบก็ทำให้เปิด แต่คนไข้ยังต้องกินยา ต้องปรับตัว ดังนั้น หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเป็นโรค ย่อมดีกว่าหรือไม่ เพราะโรคนี้มาจากพฤติกรรม ทั้งการกินอาหารไขมันสูง รสหวาน ไม่ออกกำลังกาย ไม่ดูแลตัวเอง" นพ.ขชล  กล่าว

 

    ส่วนคอนเซ็ปต์การยกโรงพยาบาลมาไว้ที่บ้าน เกิดจากการทบทวนการทำงานผ่านเครือข่าย ในฐานะรพ.แม่ข่าย เรามุ่งเน้นการพัฒนาการบริการว่าจะทำยังไงให้ครบวงจร  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ การบริการล่าช้า จึงมาคิดว่าเกิดจากอะไร พบว่า 

    1.จากตัวคนไข้เพราะมองว่าอาการที่ตัวเองเป็น อาจไม่ก่อปัญหา ทำให้ชะล่าใจ  2.จากระบบบริการ เนื่องจากต้องวินิจฉัยด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อน แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนนี้ ทำให้เสียเวลาตั้งแต่การเดินทางมาถึงรพ.ใหญ่ๆ กว่าจะรักษาก็ทำให้เสียเวลาไปมาก   แต่หากเราลดขั้นตอนการวินิจฉัยตั้งแต่ที่บ้าน ก็จะลดขั้นตอนตรงนี้ได้  จึงได้มีการพัฒนาทีมออกไป และมีระบบที่ปรึกษาช่วยเหลือ ส่วนเรื่องการให้ยาละลายลิ่มเลือด ทางรพ.สกลนคร เป็นรพ.แห่งแรกของประเทศที่ทำเรื่องนี้ในการกระจายยาละลายลิ่มเลือดให้โรงพยาบาลชุมชน(รพช.)   มีระบบอบรม มีที่ปรึกษาเพื่อให้มั่นใจการใช้ยา ที่สำคัญเรามีระบบติดตามหลังการรักษาทุกกระบวนการ

    เห็นได้ว่าการทำงานเครือข่ายฯ มีความสำคัญมาก เพราะเราคงไม่สามารถจัดแพทย์หัวใจไปประจำโรงพยาบาลชุมชนตลอด อย่างการผลิตหมอหัวใจ เรียน 6 ปี ใช้ทุน 3 ปี เรียนเชี่ยวชาญ5 ปี การสร้างหมอใช้เวลา 14 ปี การผลิตจึงยาก ที่จะทำให้หมอหัวใจทั่วถึง  แต่หากเราสามารถทำให้คนไข้เข้าถึงด้วยทรัพยากรที่มี มีการทำงานผ่านเครือข่ายฯ จะตอบโจทย์ได้  ซึ่งปัจจุบันรพ.สกลนคร อยู่ในลำดับที่ 18 ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้จากทั้งหมด 58 แห่งทั้งรพ.รัฐและโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ 

    "สำหรับช่วงโควิดระบาดนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อการรักษา เพราะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รอไม่ได้  แต่เราเตรียมพร้อมมีการตั้งวอร์ดโควิด  หากฉุกเฉินต้องได้รับการบริการ เพียงแต่เรามีระบบในการดูแลป้องกันเจ้าหน้าที่ลดความเสี่ยงจากโควิด " นพ.ขชล กล่าว

   ** การทำงานผ่านเครือข่ายดังกล่าว หากไม่พูดถึง "พยาบาล" คงไม่ได้ เพราะเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานการทำงานร่วมกันระหว่างรพ.แม่ข่าย และลูกข่าย....

    น.ส.ทัศนีย์ แดขุนทด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้าหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ ให้ข้อมูล ว่า  รพ.สกลนคร  พัฒนาระบบให้เป็นแนวทางเดียวกันตั้งแต่ปี 2556 สามารถสร้างเครือข่ายให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทุก รพช.  ซึ่งขณะนั้นไม่มีหมอหัวใจ มีแต่หมออายุรกรรม โดยเราประสานกับ สสจ. สสอ. เพื่อลงพื้นที่ทำงานเป็นทีม มีทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ เพื่อลงไปชุมชน ให้ทั้งความรู้ การเตรียมพื้นที่ อุปกรณ์ ระบบยา รวมทั้งนำนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เมื่อทุกคนเริ่มเข้าใจบทบาทหน้าที่ เราก็ไม่ได้ทิ้งเขา แต่ให้มีรพ.นำร่องจาก 18 รพ.ทั้งหมด ค่อยๆขับเคลื่อน  นำร่องโดยรพ.สว่างแดนดิน เนื่องจากมีหมออายุรแพทย์ จากนั้นก็ตามมาเรื่อยๆ 
   

 กุญแจแห่งความสำเร็จ คือ รพ.แม่ข่ายต้องรับเป็นที่ปรึกษา 24 ชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นเรามีอายุรแพทย์ที่เสียสละมาก จากนั้นระบบพยายามผลักดันจนมีหมอหัวใจเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม โดยปกติ รพช. จะหมุนเวียนแพทย์ จึงเกิดคำถามว่า  จะทำอย่างไรให้เครือข่ายยั่งยืน  จึงมุ่งไปที่ พยาบาล ที่อยู่ประจำรพช. นั้นๆ โดยสร้างความเข้มแข็งให้กับพยาบาล ซึ่งตอนนั้นเรามีหัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉินทุกแห่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องโรคหัวใจ เรียกว่า พยาบาลผู้จัดการรายกรณี  ทำหน้าที่ประสานและดูแลคนไข้ระดับแม่ข่ายและลูกข่ายทั้งหมด จนเกิดระบบเชื่อมต่อ  แม้จะมีการหมุนเวียนแพทย์ ก็จะมีพยาบาลคอยเป็นกึ่งกลางประสาน แต่การหมุนเวียนแพทย์นั้น ทางแม่ข่ายจะมีการเตรียมแพทย์ให้พร้อมสำหรับการทำงานตรงนี้  เรียกว่าช่วยกันทั้งหมด 
    

    ส่วนกรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  เราประสานงานในระดับอำเภอ เริ่มต้นเราประสานผ่านภาคีเครือข่าย ทั้งนายอำเภอ สสจ.  สสอ.เป็นคีย์แมนสำคัญให้เราเข้าถึงได้ เพราะเราอยู่รพ.จังหวัด การจะไประดับอำเภอ ต้องมีผู้นำลงไป อย่าง สสอ. สำคัญในการนำพวกเราลงไป เอานโยบายลงไปสู่การปฏิบัติงานในรพ.สต. ขณะนั้นเราเชิญพยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ผอ.รพ.สต. เข้ามาฟังนโยบาย และทำเป็นโหนดๆ หรือโซนการทำงานในแต่ละอำเภอ เพื่อให้การบริหารลงตัว โดยเน้นให้ความรู้เจ้าหน้าที่ อสม. เรามีอสม.เชี่ยวชาญโรคหัวใจ เพื่อให้รู้อาการเตือน จะได้นำส่ง รพ.เร็วที่สุด   

     เราทำงานร่วมกับ รพ.สต. เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับโรค มีอาการอะไร  และจัดการกับภาวะเสี่ยงอย่างไร ซึ่งรพ.สต.ก็จะให้ความรู้ภาคประชาชน ทำสื่อในการสื่อสาร  หากพบกลุ่มเสี่ยงสูงก็จะมีแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ  ส่วนคนไข้ที่ผ่าตัดหัวใจแล้ว และต้องกลับไปอยู่บ้าน ก็จะมีการติดตามอาการในระดับเครือข่าย  เรามีกรุ๊ปไลน์ มีเบอร์ติดต่อพยาบาล เราทำงานเหมือนครอบครัว รู้จักกันหมด ปรึกษากันได้ตลอด  นอกจากนี้ ยัง มี อสม.เชี่ยวชาญหัวใจ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก(แห่งประเทศไทย)  ลงพื้นที่มาอบรมให้กับบุคลากร จัดทำเป็นหลักสูตร อสม.เชี่ยวชาญหัวใจโดยเฉพาะ 

    "ที่ผ่านมาเราทำงานไร้รอยต่อมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเชิงรุก หรือการดูแลเมื่อเกิดโรค ซึ่งการทำงานผ่านเครือข่ายช่วยได้มาก และรพ.สกลนครเป็นที่แรกๆ ที่มีการทำเครือข่ายตรงนี้"

    เมื่อถามถึงกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่นจะกระทบต่อการทำงานแบบเครือข่ายหรือไม่  น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า  มองว่าไม่มีปัญหา เพราะเราดูแลคนไข้แบบไม่มีรอยต่อ ไม่ว่าจะขึ้นกับองค์กรไหน เราก็ทำงานร่วมกันเพื่อผู้ป่วยเป็นหลัก  แม้แต่รพ.เอกชน เราก็มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งหมด เรียกว่า การทำงานในพื้นที่ไม่น่ามีปัญหา เพราะทำงานเหมือนพี่น้อง มีการดูแลกันอย่างครอบครัว 

 

    ด้าน พญ.ปิยวรรณ  ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวเสริมถึงมาตรฐาน HA เกี่ยวกับการรับรองรูปแบบการทำงานผ่านเครือข่าย ว่า การกำหนดเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเครือข่ายการทำงานนั้น  เราเน้นตัวโรค โดยทางรพ.สกลนคร ชูเรื่องโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  ซึ่ง สรพ. กำหนดเกณฑ์หลักๆ คือ การบริการคนไข้โรคนี้ต้องมีระบบบริการแบบไร้รอยต่อ  ซึ่งการทำเครือข่ายตอบโจทย์ตรงนี้ อย่างการมีรพ.ที่บ้าน มีระบบเชื่อมต่อไปยังรพ.แม่ข่ายเพื่อรับการรักษาต่อได้ ตรงนี้ช่วยลดขั้นตอนที่รพ.ใหญ่ได้ นี่คือหนึ่งในมาตรฐานที่จะมีการพิจารณา เพื่อให้คนไข้เข้าถึงการบริการที่จำเป็น รักษาได้ทันการ ลดอัตราการเสียชีวิต  

"นอกจากนี้ ยังมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน  โดย รพ.สกลนคร เป็นรพ.ที่ทำเรื่องเครือข่ายอันดันต้นๆ และยังเป็นรพ.แรกๆที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่รพ.ชุมชน ตรงนี้ทังหมดมาจากการสร้างเครือข่าย มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และอีกเกณฑ์ที่สำคัญคือ ต้องจัดบริการให้คนไข้ปลอดภัย  รวมถึงเรื่อง"เอาท์พุท" (Output) กับ "เอาท์คัม" (Outcome) เราไม่ได้แยกว่า รพ.ใดรพ.หนึ่งลดอัตราการเสียชีวิตโรคหัวใจได้กี่คน แต่เราดูภาพรวมของจังหวัดทั้งหมด และจากสถานการณ์โควิด19 เมื่อมีข้อจำกัด จะทำอย่างไรไม่กระทบการบริการ ทั้งหมดเป็นตัวอย่างเกณฑ์ที่รพ.สกลนคร ตอบโจทย์ได้" ผู้อำนวยการ สรพ.กล่าวทิ้งบท้าย

นอกจากรพ.สกลนคร จะเป็นอีก Medical Hub หรือศูนย์กลางทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจทางภาคอีสาน หรือลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว   ยังเป็นอีกก้าวความสำเร็จของการทำงานผ่านเครือข่ายรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบไร้รอยต่อ เพื่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง...

...ที่สำคัญการรักษาทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะโรคนี้จัดเป็นโรคที่ต้องรักษาโดยเร็วในภาวะฉุกเฉิน จึงอยู่ในโครงการยูเซป  หรือโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกสิทธิ์นั่นเอง

 

 


***************

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง