ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พบป่วยโควิดเพิ่มขึ้น! พื้นที่  กรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขรักษา HI /CI เคย 1 หมื่นเศษๆ ขึ้นเป็น  14,780 ราย ส่วนระบบรักษาผู้ป่วยนอก  (เจอ แจก จบ) จาก 191,000 ราย เพิ่มขึ้น  207,643 ราย  ชี้มีการแพร่เชื้อกระจายครอบครัว ผู้สัมผัสใกล้ชิด คาด ก.ย.ติดเชื้อสูง 4 พันราย  ย้ำ! ขอให้คงมาตรการป้องกันตัวเอง สวมแมสก์ เว้นระยะห่าง  ล้างมือ หากยังคงปฏิบัติตัวเลขติดเชื้ออาจไม่สูงมาก แต่หากผ่อนคลายหมด ไม่สวมแมสก์อาจแตกต่างออกไป

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 4 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)   นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า สถานการณ์ทั่วโลกหลายประเทศ เริ่มลดการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะรายงานผู้ป่วยที่รับการรักษาในรพ. และเสียชีวิตเป็นหลัก ซึ่งไทยก็เริ่มปรับการรายงานนี้เช่นกัน เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์การรองรับการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีเพียงพอและเหมาะสมในแต่ละช่วงของสถานการณ์ 

หลายประเทศในทวีปเอเชียผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงบางประเทศมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้ามาต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม  ประเทศต่างๆ 6 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 BA.5 เริ่มจากแอฟริกาใต้ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พบสัดส่วนเพิ่มขึ้น อย่างแอฟริกาใต้BA.4 อยู่ 64% และ BA.5 อยู่ 27%  ส่วน อังกฤษ BA.4 อยู่ 19%  BA.5 ขึ้นมา 28% ขณะที่สหรัฐ BA.4 อยู่ 13%  BA.5 อยู่ที่ 24%  ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ กับสหรัฐ จะมีระลอกเล็กๆเกิดขึ้น โดยแอฟริกาใต้เป็นระลอกที่ 5 

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า อังกฤษครอบคลุมวัคซีน 73% สหรัฐ 67% ตัวกราฟเสียชีวิตไม่ขึ้นมาก แต่แอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนครอบคลุม 32% พบว่าผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเริ่มเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง ส่วนฝรั่งเศส BA.5 เพิ่มขึ้น ออสเตรเลียก็เพิ่มขึ้น BA.5 ขึ้นมาเป็น 21% ส่วนไทยก็เพิ่มขึ้น แต่ของเรายังไม่พบเวฟใหม่ขึ้นมาอย่างชัดเจน  ส่วนการครอบคลุมวัคซีนในออสเตรเลีย 84%  ผู้เสียชีวิตอยู่หลักสิบ แต่ฝรั่้งเศสฉีดวัคซีน 78% แต่เสียชีวิตยังสูง แม้จะฉีดวัคซีน แต่อาจมีกลุ่มที่ไม่ฉีด และกลุ่มที่ฉีดมานานแล้ว รวมไปถึงมาตรการป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัยเริ่มย่อหย่อนไปพอสมควร อาจต้องกลับมาประกาศใส่แมสก์ใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนมากก็มีโอกาสลดการป่วยหนักลงได้

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในไทย รายงานปอดอักเสบอยู่ที่ 677 ราย ส่วนใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา  จาก 630 เป็น 677 ราย ซึ่งสอดคล้องกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจยังไม่เพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะปอดอักเสบต้องใช้เวลาอีกนิดหนึ่ง ส่วนผู้เสียชีวิตยังทรงตัว ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ก็ยังทรงตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากใกล้เคียง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงอย่าง HI -CI จากเคย 1 หมื่นเศษๆ ขึ้นเป็น  14,780 ราย แสดงว่าการแพร่กระจายของเชื้ออาจอยู่ในวงกว้างระหว่างครอบครัว ผู้สัมผัสใกล้ชิดกัน อาจมีการติดเชื้อและรักษาตัวเองที่บ้าน ทำให้ระบบการรักษาผู้ป่วยนอก (เจอ แจก จบ) จาก 191,000 ราย เพิ่มขึ้น  207,643 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

 "ข้อมูลพบว่าผู้เสียชีวิตจากโควิดโดยตรง ข้อมูล วันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค.65 มีผู้เสียชีวิตปอดอกเสบรุนแรง 106 ราย พบ 100% เป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด  ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยกลุ่มนี้เกือบ 50% ไม่ได้วัคซีนสักเข็ม ส่วนบางคนฉีดไปเข็มเดียว เมื่อป่วยหนักก็ป้องกันเสียชีวิตไม่ได้ ทั้งนี้ บางส่วนฉีดไปแล้ว 30% แต่ฉีด 2 เข็มเกินมา 3 เดือนแล้ว ภูมิก็ลดลง ดังนั้น ต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกัน ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จะพบ คนไข้มะเร็ง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ โรคไต อาจไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยจึงมีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น" นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาการหนักที่ใส่ท่อช่วยหายใจภาพรวมทั้งประเทศเกือบ 11% ซึ่งยังไม่เกินเกณฑ์ 50% เพราะถ้าเกินต้องมีเตียงเพิ่มแล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาหลายจังหวัดได้ปรับเตียงผู้ป่วยโควิด เป็นผู้ป่วยอื่นๆ   ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาในรพ. หรือแอดมิท เมื่อวันที่ 1 ม.ค.-3 ก.ค. สถานการณ์ตอนนี้กรุงเทพฯและปริมณฑล ยังเป็นกลุ่มที่มีพอสมควร และเพิ่มขึ้นในบางจังหวัด ทำให้ข้อมูลสะสมรายสัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 22-26 เริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ สรุปคือ ทั้งประเทศมีการติดเชื้อเพิ่มในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว แต่จังหวัดเล็กๆเริ่มลดลง

"เมื่อพิจารณาตัวเลขต่างๆ อย่างการรักษาระบบ OPSI หรือผู้ป่วยนอก สรุปคือมีตัวเลขเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นสัญญาณเตือน รวมทั้งจังหวัดใหญ่ๆ จังหวัดท่องเที่ยวต้องพิจารณาเรื่องการควบคุมโรค ต้องมีมาตรการเพิ่ม โดยเฉพาะสวมหน้ากากอนามัย หรือการร่วมกิจกรรมคนมากๆ หรือใช้รถขนส่งสาธารณะ ยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า คาดการณ์จากมาตรการที่ยังคงเหมือนในมิ.ย. คือ ยังสวมหน้ากาก ซึ่งตอนนี้เรามีป่วยเข้ารักษา 2 พันรายต่อวัน ก็คาดว่า ก.ย.ไม่ควรจะเกิน 4 พันรายต่อวัน แต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการกันหมด ไม่สวมหน้ากาก ก็อาจจะเกินจากนี้ได้ แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยในช่วงเวลาใกล้ๆ อีกครั้ง แต่อาจไม่สูงเท่าโอมิครอนช่วงต้นปี เนื่องจากฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตก็จะมีการคาดการณ์ตัวเลขเพิ่มเติม

(ข่าวเกี่ยวข้อง : โควิด " BA.4 - BA.5" แนวโน้มเพิ่ม แต่ความรุนแรงไม่ชัด! ส่วน BA.2.75 ยังไม่พบในไทย)

 

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์หลังวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไปจนถึงปี 2566 มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ของไทยสำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตจะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน พบว่า ระลอกโอมิครอนช่วงม.ค.ที่ผ่านมามีตัวเลขเพิ่ม และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตั้งแต่สัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์ 35 ก็จะเพิ่มขึ้นได้ แต่จะเพิ่มสูงเท่าโอมิครอนช่วงต้นๆ อาจไม่ถึง เพราะปัจจัยหลายอย่าง ทั้งวัคซีนที่ฉีดจำนวนมากแล้ว แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่จะบอกว่ากราฟจะสูงขึ้นแค่ไหน คือ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล หากเรายังคงมาตรการใกล้เคียงก่อนหน้าผ่อนคลายมาตรการทั้งหมด ตัวเลขติดเชื้อก็จะไม่สูงมาก แต่หากผ่อนคลายหมด ทุกคนไม่สวมหน้ากากหมด เส้นกราฟก็จะแตกต่างออกไป

"สิ่งสำคัญคือ ขอให้มีการปฏิบัติตนตามมาตรการ UP หรือมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดวเลา โดยเฉพาะขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท และขณะร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก รวมทั้งเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม และขอให้คงมาตรการ UP ขณะเดินทางไปต่างประเทศ แนะนำให้ทุกคนควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่ใกล้ชิดคนจำนวนมาก อีกทั้ง เร่งมาตรการฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 เพื่อลดอาการหนักที่กำลังเพิ่มขึ้น" นพ.จักรรัฐ กล่าว

เมื่อถามว่าการรายงานผู้ติดเชื้อปัจจุบันต่ำกว่าความเป็นจริง  นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า  ต้องเรียนให้ทราบว่า สธ.ติดตามสถานการณ์เน้นผู้ป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อ เพราะโอมิครอน การระบาดค่อนข้างมาก แต่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนไปกว่า 80%ในเข็ม 1 แต่เข็มกระตุ้นอยู่ที่ 40% จึงต้องฉีดเพิ่ม ดังนั้น การรายงานโรคเราเน้นผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อติดตามระบบสาธารณสุขว่าจะรองรับรักษาประชาชนมากน้อยแค่ไหน 

"ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ อาการน้อย ไม่มีอาการ อาจนอนอยู่บ้าน แล้วไม่มารพ. ตัวเลขนี้เราจะไม่ได้มี แต่เราจะเน้นตัวเลขผู้ป่วย เพราะผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าเราต้องอยู่กับโควิด การติดเชื้อจะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   คาดการณ์พีคสุดเดือน ก.ย. ติดเชื้อวันละประมาณ 4 พันราย " นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org