ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตรียมหารือหลังสถานพยาบาลเอกชน บางแห่งขอขยายเวลารับผู้ป่วยแบบฮอสพิเทล และกรณี HI เหตุคนไข้เพิ่ม และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่จ่ายได้

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามที่เราได้มีการอนุญาตให้เปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลที่เราออกประกาศไว้ ครอบคลุมระบบการรักษาที่บ้าน (HI) ระบบการรักษาในชุมชน (CI) Hospitel  และ Hotel Isolation  แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จึงมีแนวทางให้คนไข้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ดังนั้น ตอนนี้จึงมีการพิจารณายกเลิกประกาศให้จัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวเหล่านั้น ซึ่งการยกเลิกจะเป็นในส่วนของการเบิกจ่ายเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม(สปส.)

“อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาหรือแยกกันตัวเองที่บ้าน หรือรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ประกอบกับสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งแจ้งว่าขณะนี้คนไข้มากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเตียงคนไข้ปกติในโรงพยาบาล ที่ผ่านมาจึงมีการหารือกันว่า จะอนุญาตให้มีการดำเนินการเรื่อง HI และฮอสพิเทลต่อหรือไม่ จนกว่าใบอนุญาตจะหมดลงใน 2 ช่วงคือ  เดือนก.ค.นี้ และอีกเดือนคือ ก.ย.นี้ ดังนั้น จึงจะมีการประชุมหารือเรื่องนี้ว่า จะขยายระยะเวลาต่อหรือไม่” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า  ตอนนี้สถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด – 19 ยังเปิดใช้ทุกรูปแบบ ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าแห่ง  แต่ขณะนี้กองทุนต่าง ๆ ไม่ได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตรงนี้แล้ว เช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยกเลิกการจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ทางรพ.เอกชน อาจจะไม่ได้มีการขยายการเปิดเพิ่มนัก เพราะต้องเขาเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าโรงแรม และการดูแลผู้ป่วย  ย้ำว่าการขยายเปิดตรงนี้เป็นไปเพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกรักษาตัวที่บ้าน แล้วสะดวกที่จะจ่ายเอง ถ้าแพงคนก็ไม่ไปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่อาการสีเขียวไม่ต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ เพราะตามเจตนารมณ์เราอยากให้ท่านรักษาในระบบ OPD 

 

(อ่านข่าวอื่นๆ : สบส.จ่อตรวจสอบ รพ.เอกชน ขายแพคเกจรักษาโควิด-19 หากไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้เข้าข่ายผิด!)

เมื่อถามว่าหากอนุญาตให้รพ.เอกชน สามารถเปิดฮอทพิเทล โฮเทลไอโซเลชั่น โดยที่กองทุนต่างๆ ยกเลิกการจ่ายไปแล้ว ทำให้เอกชนเรียกเก็บค่ารักษากรณีโรคโควิด – 19 ได้ 100 % เลยหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ใช่ เมื่อถามย้ำว่าต้องควบคุมราคาด้วยหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เราไม่มีกฎหมายควบคุมราคา กฎหมายเรากำหนดให้แค่ต้องประกาศราคาให้ทราบตั้งแต่แรก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด – 19 จะอิงตามประกาศอัตราการจ่ายค่ารักษาของทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือไม่ก็ไม่สามารถบอกได้ แต่สำหรับการควบคุมราคาต่างๆ นั้น อยู่ในกฎหมายการควบคุมราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์

เมื่อถามว่าจากนี้คนที่ไปรักษาในสถานพยาบาลชั่วคราวเหล่านี้ หากมีการเก็บเงินไม่ใช่เรื่องผิด ใช่ไหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ มีการปรับระบบให้ผู้ป่วยรักษาตามสิทธิ ยกเว้นคนไข้เหลือง แดง ที่สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ ดังนั้นหากคนไข้อาการสีเขียว ซึ่งมีรพ.ตามสิทธิ์อยู่ที่ รพ. ก. แต่เลือกที่จะไป รพ. ข. ก็ต้องจ่ายเงินเอง พอจ่ายเองจะเลือกจ่ายแบบไหน จะจ่ายแบบคนไข้นอก หรือจะไปนอนฮอทพิเทล นอน รพ. ก็แล้วแต่ แต่โดยรวมรพ. ข. ต้องดูแลท่านตามมาตรฐานวิชาชีพ ห้ามให้ยาเกิน เช่น หากไม่มีอาการแต่ให้ยาเยอะ ถ้าตรวจสอบพบก็ต้องมีความผิดตามาตรฐานวิชาชีพ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org