ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.สรุปตัวเลข รพ.สต.-บุคลากรถ่ายโอนไปยัง อบจ. 1 ต.ค.65  มีบางส่วนยังไม่เซ็นยืนยันไปหรือไม่ รอคอนเฟิร์มกับอบจ.อีกครั้ง ส่วนงบประมาณว่าจ้างบุคลากรโอนย้ายตาม แต่งบดูแลประชาชนยังเป็นในส่วน สปสช. ขณะที่ผู้ไม่ประสงค์ถ่ายโอนอีก 5,809 ราย เป็นข้าราชการ 4,225 ราย และการจ้างงานอื่น 1,584 รายกระจาย 57 จังหวัด สธ.จัดพื้นที่ลงแล้ว

ตามที่มติครม.เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565  เห็นชอบการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.)และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ตามที่สำนักงบประมาณเสนอจำนวน 512 แห่งจาก 3 พันกว่าแห่ง พร้อมบุคลากร 2,312 รายจากทั้งหมดกว่า 2 หมื่นรายที่แสดงความประสงค์ เพื่อย้ายไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไปนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลบุคลากรที่ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สรุปไว้แบ่งเป็นกลุ่มที่ถ่ายโอนภารกิจ และกลุ่มที่ไม่ถ่ายโอนภารกิจ ดังนี้  "กลุ่มที่ถ่ายโอนภารกิจ" มีรพ.สต.จำนวน 3,264 แห่งจาก รพ.สต.ทั้งหมด 9,836 แห่ง แบ่งตามขนาดเป็น รพ.สต. ขนาด S จำนวน 619 แห่ง  ขนาด M จำนวน 2,123 แห่ง และ ขนาด L จำนวน 412 แห่ง ขณะที่บุคลากรที่จะถ่ายโอนรวม 21,779 ราย แต่ตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เห็นชอบรพ.สต.และ สอน. ถ่ายโอน 512 แห่ง พร้อมบุคลากร 2,312 ราย  

ทั้งนี้ ในส่วนรอแปรญัตติปรับเปลี่ยนงบประมาณจำนวน รพ.สต.อีก 2,752 แห่ง และบุคลากร 19,467 ราย  ซึ่งงบจ้างบุคลากรจะมีทั้ง จ้างด้วยเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่ต้องแปรญัตติปรับเปลี่ยนงบนั้น มีจำนวน 4,092,177,600 บาท เป็นเงินเดือน 3,968,230,000 บาท และค่าตอบแทนอื่น 123,947,600 บาท ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่จ้างเงินเงินราย 1,305,458,000 บาท ซึ่งงบประมาณในส่วนกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลบุคลากรจะมีโอนภารกิจตามบทบาทใหม่ต่อไป ส่วนงบสำหรับดูแลประชาชนตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะเป็นในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่ดำเนินการดูแลต่อเนื่อง

ขณะที่จำนวน "ผู้ไม่แสดงความประสงค์ถ่ายโอน"  ไปยัง อบจ. มีจำนวน 5,809 ราย แบ่งเป็นข้าราชการ 4,225 ราย และประเภทการจ้างงานอื่น 1,584 ราย ซึ่งรวมกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ 57 จังหวัด 

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ ว่า ยังมีตัวเลขบุคลากรบางส่วนที่มีชื่อถ่ายโอน แต่ไม่เซ็นชื่อยืนยัน จึงยังไม่ได้รวมตรงนี้ ซึ่งต้องรอให้ไปติดต่อว่าจะถ่ายโอนจริงหรือไม่กับทางท้องถิ่นอีกครั้ง แต่ตัวเลขนี้ไม่มากหลักสิบ อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ถ่ายโอนภารกิจไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามขั้นตอน งบประมาณบุคลากรที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลจะย้ายตามไป แต่งบประมาณดูแลผู้ป่วย ดูแลประชาชนยังเป็นของ สปสช. 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อกังวลว่า หลังจากถ่ายโอนครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะไม่ทิ้ง รพ.สต. แต่จะยังเป็นพี่เลี้ยงต่อไปหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ทิ้งประชาชน โดยการทำงานนั้น อบจ. จะมีกสพ. หรือ คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่คอยดูแล ซึ่งมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ก็จะมีการปรึกษาหารือกับอบจ. ทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

"ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ เราได้ให้โอกาสเลือกว่าจะไปลงสถานที่ไหน มีตำแหน่งว่างตรงไน สามารถลงได้เราก็ดำเนินการ ซึ่งมีที่ลงกันหมดทุกคนที่แสดงความประสงค์มากับทางกระทรวงฯ" รองปลัด สธ. กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org