ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาการที่ผู้ป่วยโควิด 19 หลายคนต้องเผชิญ นอกจากอาการทั่วไปที่คล้ายกับไข้หวัดแล้ว ยังสามารถเกิดอาการอื่น ๆ เช่น เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจหอบ ซึ่งอาการเหล่านี้คล้ายกับโรคหัวใจ จนทำให้แยกได้ยากว่า ผู้ป่วยเป็นโควิดหรือโรคหัวใจกันแน่

นพ.เคย์ เผ่าภูรี แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ อธิบายกับ Hfocus ว่า โควิด 19 มีพื้นฐาน อาการเป็นกลุ่มอาการทางเดินอากาศ ทางเดินหายใจ จึงมีอาการไข้หวัด น้ำมูก ไอ เจ็บคอ บางคนก็สามารถติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการได้ แต่หากอยู่ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง มักจะมีการติดเชื้อสู่อวัยวะต่าง ๆ ทำให้อวัยวะล้มเหลวได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ส่วนใหญ่เมื่อมีอาการรุนแรงจะมุ่งเป้าไปที่ปอดเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันพบว่า การติดเชื้อโควิดส่งผลต่อการติดเชื้อกับหัวใจได้ในบางราย ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือกระตุ้นให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจเกิดได้ตั้งแต่เจ็บหน้าอกเล็กน้อย น้ำท่วมปอด ไปจนถึงหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อโควิด 19 อาจเกิดอาการรุนแรงได้ แต่ยังพบได้ไม่บ่อย หากเทียบกับภาวะปอดติดเชื้อ หรือการหายใจล้มเหลว ที่พบได้บ่อยกว่า 

"สำหรับการสังเกตอาการ ตัวคนไข้ต้องดูว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีประวัติสูบบุหรี่ มีโรคประจำตัวที่สำคัญอย่างความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง รวมไปถึงโรคเบาหวาน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจได้ พร้อมทั้งสังเกตอาการแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่า มีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ แต่โรคหัวใจก็จะมีการเจ็บหน้าอกในลักษณะที่จำเพาะ เหมือนกับมีของหนักมาทับ ร้าวไปที่สะบัก หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างใจสั่น เหงื่อออก ก็มักจะบ่งชี้ได้ว่า เป็นโรคหัวใจ และแม้แต่อาการเจ็บหน้าอกเพียงอย่างเดียวก็ยังเป็นโรคหัวใจได้ เพราะบางกลุ่มไม่แสดงอาการตรงไปตรงมา หากมีความเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านจะดีที่สุด เพราะการเจ็บหน้าอก ไม่ใช่แค่โรคหัวใจ แต่เป็นโรคอื่นได้อีก" นพ.เคย์ กล่าว

ส่วนผู้ป่วยโควิดก็สามารถมีอาการคล้ายกับโรคหัวใจได้เช่นกัน นพ.เคย์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดติดเชื้อ มักจะแสดงอาการเจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยหอบ ได้เช่นกัน หากผู้ป่วยโควิดที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) รู้สึกร่างกายผิดปกติอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโควิดได้ เช่น อาการปอดอักเสบ ส่งผลให้เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ซึ่งแยกกันยากกับภาวะโรคหัวใจตีบ จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมิน หรือประชาชนทั่วไปเกิดอาการดังกล่าว ให้ตรวจเบื้องต้นด้วย Antigen Test Kit (ATK) ชุดตรวจโควิด-19 เสียก่อน เพื่อดูว่าติดโควิดหรือไม่ แล้วจึงไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดต่อไป

นพ.เคย์ ย้ำด้วยว่า วิธีที่พอจะสังเกตได้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือโควิด คือ อาการเบื้องต้นของโควิดที่นำมาก่อน แต่บางราย คนไข้อาจเป็นโรคหัวใจแต่ติดเชื้อโควิดไม่แสดงอาการก็ได้ จึงควรตรวจ ATK ก่อน หากมีอาการต้องสงสัยหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย จากนั้นควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org