ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 จะมีการแก้ไขให้มีการลดโทษและให้ความสำคัญกับมาตรการทางสาธารณสุขที่มากขึ้น  แต่การใช้ยาเสพติดหรือครอบครองเพื่อใช้ส่วนตัวยังเป็นโทษทางอาญาอยู่ รวมถึงยังคงไว้ซึ่งมาตรการที่เน้นการลงโทษอื่นๆ เช่น การสุ่มตรวจปัสสาวะ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ใช้สารเสพติดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ สังคม และการลดอันตราย ยิ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่มีการออกมาตรการพิเศษเพื่อจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของผู้คน ทำให้การเข้าถึงบริการเหล่านี้ลำบากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ใช้สารเสพติดเลวร้ายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มักเผชิญการตีตราและเลือกปฏิบัติมากกว่าคนกลุ่มอื่น

หน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (IDPC) และ มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) ได้ดำเนินงานร่วมกับ เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) และมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ภายใต้โครงการ LGBTQI+ People, Drug Use and Criminalisation in Thailand เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปนโยบายยาเสพติด แนวปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย และการให้บริการที่มีความเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะทาง โดยมีจุดประสงค์ในการพัฒนาผลลัพธ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงร่วมกันจัดงาน ประชุมสัมมนา หัวข้อ การเข้าถึงบริการสุขภาพและการปกป้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพ

นายสมชัย พรหมสมบัติ รองประธานมูลนิธิแอ็พคอม(APCOM)  เปิดเผยว่าได้ ร่วมกับ หน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (IDPC)  เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) และมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ภายใต้โครงการ LGBTQI+ People, Drug Use and Criminalisation in Thailand และกระทรวงสาธารณสุข ปฏิรูปนโยบายยาเสพติด แนวปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย และการให้บริการที่มีความเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะทาง โดยมีจุดประสงค์ในการพัฒนาผลลัพธ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยได้จัดงานประชุมสัมมนาหัวข้อ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และการปกป้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เกิดการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างบุคคล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในอนาคต

ศ.กิตติคุณ นพ. ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ความแตกต่าง ของกลุ่มผู้รับบริการด้านสาธารณสุข ในกลุ่ม LGBT ต้องได้รับการจัดการบริการที่ละเอียดอ่อนเพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง ที่ยังขาดการยอมรับในวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้คนกลุ่มนี้ ไม่กล้าเข้าไปรับบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลกลับมาสู่สังคมตามมา เช่น ในกรณีโรคระบาดต่างๆ

“การให้บริการคนกลุ่มนี้ จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจเรื่องการเก็บความลับข้อมูลผู้ใช้บริการ ต้องมีการจัดเตรียมสถานที่ และเวลาที่สะดวก และตอบโจทย์ความต้องการผู้เข้ารับบริการ ซึ่งรูปแบบการดำเนินการ ต้องเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของคนกลุ่มนี้ เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ จะต้อง ได้รับการอบรม ให้มีความเข้าใจถึงปัญหา และการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และให้ความสะดวกตามมาตรฐานสากล ไม่มีพฤติกรรมหรือทัศนคติเชิงลบ ต่อผู้ที่เข้ามารับบริการ และต้องพัฒนาปรับปรุงบริการให้เท่าทันยุคสมัยอยู่เสมอ”ศ.กิตติคุณ นพ. ประพันธ์ กล่าว

น.ส.จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้จัดการโครงการด้านการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการดูแลผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังขาดการคำนึง ถึงความละเอียดอ่อนของปัญหาในแง่อื่นๆ ทำให้การแก้ปัญหาผู้ใช้สารเสพติด ซึ่งต้องการความเข้าใจ เชื่อใจและกำลังใจเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะกลุ่ม Chemsex ที่ใช้ยาก่อนหรือระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งใช้ยาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น ทำให้กล้าที่จะลองประสบการณ์ใหม่ในการมีเซ็กส์ ลดความรู้สึกกดดัน หรือไม่มั่นใจตนเอง บรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยว

“การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จำเป็น ต้องมองเห็นความจริงรอบด้าน และเข้าใจข้อเท็จจริงว่า การใช้ยาเสพติดมีมูลเหตุที่แตกต่างกัน และมีทางออกที่ต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการแก้ปัญหา รวมถึงต้องมีมุมมอง แบบองค์รวมเข้าใจความเป็นมนุษย์ ทีเชื่อมั่นว่า สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหานี้ให้ดีขึ้นได้ในระยะยาว ผู้ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ต้องไม่ใช่ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัดสินและตีตรากลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ” จารุณี กล่าว

นายสาโรจน์ คุณาธเนศ ตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการใช้สารเสพติด กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ มีหลายมิติ โดยเฉพาะด้านจิตใจ ที่ต้องการผู้ดูแลที่เข้าใจปัญหา หรือมีระบบ การรวมกลุ่มคนที่เข้าใจปัญหามาช่วยกันออกแบบทางออก ที่เข้าถึงปัญหา ด้วยขั้นตอนที่เข้าใจ เรื่องนี้อย่างรอบด้าน

นายอัครเษรต เชวงชินวงศ์ ผู้ก่อตั้ง KRUBB Bangkok กล่าวว่า จากประสบการณ์ ที่พบเห็นจาก การให้บริการ เพื่อแก้ปัญหานี้ ให้ได้ผล จำเป็นต้องสร้างสถานที่ ทีไม่ทำให้ผู้เสพรู้สึกอึดอัดและกดดัน เมื่อไปรับบริการ จำเป็นต้องสร้างพื้นที่บริการที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย กล้าเข้ามาใช้บริการ และเชื่อมั่นว่า จะช่วยแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ได้จริง

นายดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สมาคมฟ้าสีรุ้งประเทศไทย กล่าวว่า หากมองเห็นว่า จุดประสงค์ของผู้ใช้สารเสพติด ต่างกันการแก้ปัญหา ก็จำเป็นต้อง มาจากความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จะกระบวนการในการพูดคุย สร้างความเข้าใจ และก้าวข้ามอคติที่มีต่อกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ

นายเชาว์พิชาญ เตโช เจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านจิตวิทยา ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การ แก้ปัญหากลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่มีความหลากหลายทางเพศ จำเป็นที่จะต้องใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อเข้าถึงปัญหา อย่างยั่งยืน และในอนาคต ศูนย์บริการสาธารณสุข ในกรุงเทพ ทั้ง 69 แห่ง จะมีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยแต่ละแห่ง จะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมให้เข้าใจปัญหานี้อย่างครอบคลุมและเข้าใจปัญหานี้มากขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง