ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ปีพ.ศ.2559  ในวาระพิเศษว่าด้วยสารเสพติด (2016: United Nations General Assembly Special Session on Drugs (UNGASS)) ระบุว่า นโยบายแก้ปัญหายาเสพติดระหว่างประเทศทั่วโลก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยังได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและสุขภาพอย่างรุนแรงอีกด้วย การแก้ปัญหานี้ จำเป็นต้องนำเสนอทางเลือกใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยชุมชน และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ทิศทางใหม่ของการแก้ปัญหานี้ พุ่งเป้าไปที่ ระบบควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ โดยสร้างความมั่นใจว่า ใจว่า ประชากรสามารถเข้าถึงยาเสพติดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ และห้ามการเข้าถึงยาเสพติดบางประเภทที่ใช้เพื่อการอื่น

ขณะที่ทั่วโลกกำลังมองเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหายาเสพติดด้วยนโยบายที่แข็งกร้าว ด้วยการทำสงครามยาเสพติดและกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ขาย หรือ ผู้ใช้หรือเสพยาเสพติดเป็นอาชญากร เป็นวิธีที่ไม่ได้ผล วงเสวนาเรื่อง “การบังคับใช้กฎหมายและการปกป้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดฯ” ซึ่งจัดขึ้นร่วมกันระหว่าง หน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (IDPC) มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) และมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ได้นำเสนอว่า จำเป็นต้องใช้แนวทางใหม่ ซึ่งใช้มุมมองทางสาธารณสุขและยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งเรื่องการตัดสินใจใช้ยาเสพติดและเรื่องผลทางเภสัชวิทยาที่ยาเสพติดกระทำต่อผู้ใช้ และร่วมกันหาทางออกโดยไม่กีดกันผู้ใช้ยาเสพติดออกไปจากสังคม

ประกาญจน์ ชอบไพบูรณ์ นิติกรชำนาญการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ระบุว่าเนื้อหาของกฎหมายยาเสพติดในประเทศไทย และทั่วโลกยังอยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ยังกำหนดให้ผู้ใช้สารเสพติดคือผู้กระทำความผิด เดิมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของประเทศไทย มีความซับซ้อน แม้แต่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ก็ยังต้องใช้ความพยายามในการพิจารณาแง่มุมต่างๆ เช่นบทลงโทษของสารเสพติด แต่ละชนิดที่ต่างกัน แต่ก็ประมวลกฎหมายฉบับใหม่ ได้พยายามรวบรวมเนื้อหา ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงง่ายขึ้น

“ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ มองในหลายมิติ มองทั้งด้านกฎหมายสาธารณสุขและสังคม อนุญาตให้สามารถใช้สารเสพติดในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ แพทย์สามารถสั่งใช้สารเสพติดในผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความจำเป็น แต่ต้องมีการประเมินและวินิจฉัยผู้ป่วยตามขั้นตอน การดำเนินการ และนักวิจัยที่สามารถทำการวิจัยการใช้สารเสพติดในมนุษย์ได้

ประมวลกฏหมายฉบับนี้ เปิดโอกาส ให้ผู้เสพเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและบำบัดโดยไม่มีขั้นตอนการบันทึกประวัติอาชญากรรม แม้จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเป็นคดีความไปถึงขั้นศาลแต่ก็มีช่องทางให้ศาลพิจารณาให้ผู้เสพเป็นผู้สมัครใจบำบัดได้ โดยกระบวนการบำบัด กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ออกแบบวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละคน” ประกาญจน์กล่าว

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอมุมมองว่า การทำงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่จำเป็นที่จะต้องยึดหลักการ Harm Reduction  หรือ การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งเป็น หลักการคือการช่วยให้ผู้ติดยาเสพติด สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยยังคงใช้ยาเสพติดหรือสารทดแทนในขณะที่ยังไม่สามารถหยุดใช้ยาเสพติดได้ทันที  ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้เสพ เช่น ใช้ยาเกินขนาดจนช๊อคเสียชีวิต ให้ความรู้ สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ติดยาและครอบครัว

ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมองว่า แม้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่จะพยายามที่จะลดทอนความผิดทางอาญาในการเสพสารเสพติดโดยมีกระบวนการส่งต่อเพื่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู แต่ในเชิงมิติทางสังคม ผู้เสพได้กลายเป็นอาชญากรแบบไม่เป็นทางการ จากการตีตราทางสังคม การเข้าไปเป็นผู้ป่วยและรับการบำบัดยาเสพติด มีส่วนทำให้สังคมมองผู้ใช้ยาเป็นกลุ่มคนที่มีความผิด เหมือนๆ กันหมดโดยละเลยข้อเท็จจริงและสาเหตุการใช้ยาที่แตกต่างกัน  

“การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองเพียงมิติเดียว หรือมองเพียงแค่ตัวผู้เสพ ต้องมองไปถึงมิติของครอบครัว ชุมชนและสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ร่วมกัน แม้หน่วยงานภาครัฐจำเป็นที่จะต้องประเมิน ความเสี่ยงด้านอาชญากรรมของผู้เสพ แต่ก็ต้องสร้างความเข้าใจ ว่าผู้ใช้ยาเสพติดทุกคน ไม่ได้เหมือนกันหมดหรือเป็นคนประเภทเดียวกัน เช่นเดียวกับการมองการปลดล๊อคกัญชา ซึ่งยังขาดการสื่อสารที่ทำให้สังคม มองเห็นถึงภาพใหญ่และเป้าหมายสำคัญของการปลดล็อคที่มุ่งเน้นเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์” ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ กล่าว

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ยังมีลักษณะของการตีตราและเลือกปฏิบัติ รวมถึงการไม่ได้ยึดแนวทางการ Harm Reduction ที่เป็นรูปแบบที่นานาประเทศยึดเป็นแนวทางการทำงานด้านยาเสพติด ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้พยายามผลักดันและได้ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ใช้ยาเสพติดฯ (ภาคประชาชน)  โดยมีสาระสำคัญคือ มุ่งเน้นหลักการบำบัดรักษา ฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด และส่งเสริมให้ชุมชน องค์การภาคประชาสังคม และ เอกชน เข้ามามีบทบาทด้านการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดหรือ Harm Reduction เพื่อให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถเข้าถึงและเข้ารับบริการด้านสุขภาพโดยไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและไม่ถูกบังคับให้บำบัดรักษา แต่ ร่างฯ พรบ. ดังกล่าว ก็ถูกมองว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณา การทำงานด้านนโยบายและกฎหมายในเรื่องนี้ จะยังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งในการยื่นแก้กฎหมาย ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจใหม่ในสังคมที่มีต่อผู้ใช้สารเสพติด การติดตามและการสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิโดยมี “นิติกรชุมชน” ที่จะเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกับนักกฎหมายในชุมชน

นอกเหนือจากเนื้อหาในการเสวนา ภาคประชาสังคมได้เสนอ ว่ารัฐควรส่งเสริมการเข้าถึงการให้บริการสุขภาพของของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่คำนึงถึงความหลากหลายในมิติเพศทั้งในด้านการให้บริการสุขภาพ ด้านสิทธิที่ผู้ใช้สารเสพติดจะไม่ถูกละเมิด ถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงสังคมมีความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศและการใช้สารเสพติดมากขึ้นทั้งในระดับบุคคล เครือข่ายคนทำงาน และในระดับนโยบายที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการให้บริการสุขภาพที่เป็นมิตร มีระบบกลไกการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ และการให้ความรู้เรื่องสารเสพติดและความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรรับรู้ และการเปิดพื้นที่ Friendly Safe Place อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ภาคประชาสังคมสามารถร่วมจัดการให้บริการในชุมชนได้ เพื่อหาช่องทางในการแก้ปัญหานี้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ