ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขหมดวาระ 5 ปี ฝากขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กทม. หวังให้คนกรุงเทพฯเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี   ผู้ว่าฯกทม.รับจากโควิดที่ผ่านมา มีบทเรียนจากปัญหาความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทำแซนด์บ็อกซ์ 2 จุด "ดุสิตโมเดล-ราชพิพัฒน์โมเดล" มีรพ.แม่ข่ายเชื่อมโยงปฐมภูมิ หวังปชช.เข้าถึงบริการมากขึ้น
 

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล  ในงานแถลงข่าว "ก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock1 : Health Security" นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า การปฏิรูปด้านสาธารณสุขที่ผ่านมามีความก้าวหน้าหลายด้าน การประชุมหารือในวันที่ 3-4 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะหมดวาระลงตามกฎหมายระยะเวลา 5 ปี จึงได้หารือร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อให้วางยุทธศาสต์การปฏิรูปก้าวต่อไปเพื่อความมั่นคงยั่งยืนระยะยาว สรุปสาระสำคัญ คือ 1.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ กทม. เพื่อให้คน กทม.เข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี สร้างการมีส่วนร่วมประชาชน มีระบบการคลังที่ยั่งยืน ระบบส่งต่อ

"ต่างจังหวัดและ กทม.มีความแตกต่างกัน จะเอาระบบปฐมภูมิต่างจังหวัดมาใช้ใน กทม.ไม่ได้ คนละบริบท จึงต้องการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเขตเมืองเฉพาะของ กทม. โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย เช่น เทเลเมดิซีน เพื่อให้เข้ากับชีวิตคนเมือง" นพ.อุดมกล่าว

 

 

นพ.อุดม กล่าวว่า เมื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เรื่องที่ 2 ที่สำคัญ คือ การเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ จะทำให้การรักษาทุกที่เป็นไปได้ เพราะข้อมูลกลับคืนสู่คนป่วย สามารถเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ และทำให้การเบิกจ่ายคล่องตัว เพราะข้อมูลเชื่อมกันซึ่งทาง สปสช.กทม.ก็เห็นชอบแล้ว จะเสนอบอร์ด สปสช.ต่อไป แต่ที่ต้องหารือเพิ่มเติม คือ ประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงต้องพยายามเชื่อมกับรพ. คลินิกเอกชนด้วย ซึ่งมีจำนวนมาก เกินครึ่งใน กทม.เป็นเอกชน  และ 3.การเข้าถึงยาวัคซีน เวชภัณฑ์จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน มีความก้าวหน้าที่ดี ทำให้ไทยควบคุมโรค กิจกรรมเศรษฐกิจสังคมเดินหน้าต่อได้ ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงประเทศระยะยาว และพึ่งพาตนเองได้ ต้องอาศัยร่วมมือตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สร้างนวัตกรรมใหม่

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเป็น Bigdata มีความสำคัญมาก เพราะสามารถนำมาเบิกจ่ายเงิน วินิจฉัย เชื่อมโยงหน่วยบริการปฐมสู่ตติยภูมิ แก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ดีอีเอสร่วมสธ.แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพเพิ่มคุณภาพบริการผ่านระบบ Healthlink มีความปลอดภัย และทำระบบคลาวด์ รพ.ทั่วประเทศ 13 เขต เพื่อให้ประชาชนดูข้อมูลการรักษา ประวัติการรักษาจากทุกที่ทุกรพ. ข้อมูลจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

** กรมควบคุมโรคเผยจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกส่วน  

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนไทยตื่นตัวด้านสุขภาพ หลังประสบโควิดมา 2 ปีกว่า ที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน นานาชาติ องค์การอนามัยโลกชื่นชมคนไทยร่วมกันทำงานรับมือวิกฤตโควิด เป็นต้นแบบทั่วโลกดำเนินการ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไทยมีความเข้มแข็งในการกำหนดนโยบาย และการมีส่วนร่วมของประชาชน และระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งก็ตรงกับการปฏิรูป Big Rock 1 คือระบบสุขภาพเขตเมือง ซึ่งไม่เฉพาะ กทม. แต่เขตเมือง อำเภอใหญ่ ทุกจังหวัดปัญหาคล้ายกันในการรับมือโควิด ทั้งที่เขตเมืองถือว่าทรัพยากรมากที่สุด แต่ขาดบางกลไก

ประเด็นสำคัญในการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าอีกขั้น อีกเรื่องคือ Digital Health หากเชื่อมโยงรวดเร็ว ข้อมูลก็จะเป็นของทุกคนจริงๆ และ ประเด็นโลจิสติก ความมั่นคงยา วัคซีน และอื่นๆ คณะกรรมการปฏิรูปฯ ยกประเด็นขึ้นมาเพื่อสร้างความร่วมมือร่วมใจต่อไป ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เรามีกฎหมายเกี่ยวข้องทั้ง 3 ด้าน อย่าง พ.ร.บโรคติดต่อ พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ พ.ร.บ.วัคซีน โดยกฎหมายเราเป็นSystem Design เราก็แก้กฎหมายได้ เพื่อให้ระบบยั่งยืนและชัดเจนมากขึ้น

"การจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ส่วนใหญ่คนไทยคิดถึง อสม.  เป็นกลไกสำคัญรับมือโรคต่างๆ  การพัฒนาอสม.ที่ผ่านมา เรามีนโยบาย 3 หมอ ยกระดับ อสม.เป็นหมอคนแรกของประชาชน  กทม.ก็มีระบบนี้อยู่ ถ้าเชื่อมโยง อสม.ทั้งประเทศและกทม. ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มร่วมกันก็จะเกิดความเชื่อมโยง" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า เดิมเขตชนบทเข้าถึงระบบสาธารณสุขไม่ดี แต่ปัญหาใหญ่ตอนนี้ไม่อยู่ชนบท เพราะมี อสม. รพ.สต. รพ.ชุมชน เชื่อมโยงเข้ามา ต่างจากเขตเมือง เช่น พัทยา กทม. ไม่ได้มีระบบเหมือนชนบทที่ดูแล ต้องพัฒนารูปแบบใหม่ให้สอดคล้อง เช่น การใช้ดิจิทัล เทเลเมดิซีน  สมาร์ท อสม. เป็นต้น ซึ่ง รมว.สธ.มีนโยบายเรื่อง Health for Wealth เศรษฐกิจจะดี สุขภาพก็ต้องดีก่อนด้วย

**  กทม.ทำแซนด์บ็อกซ์ 2 จุด "ดุสิตโมเดล-ราชพิพัฒน์โมเดล"  เชื่อมโยงปฐมภูมิ  

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า เรามีบทเรียนเรื่องโควิดคราวที่แล้ว กทม.รับหนักมาก ทั้งที่ กทม.มีเตียงมากสุด แต่การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ มีปัญหาเรื่องการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพราะไม่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสั่งการ แต่ละส่วนดูแลของตนเอง อย่าง กทม.มีเตียงใน รพ. 11% ของเตียงในพื้นที่ทั้งหมด ต้องบูรณาการข้อมูลความร่วมมือ ซึ่งระบบปฐมภูมิเป็นจุดอ่อนของเรา เรามีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 69 แห่ง รับไหวไหมก็ไม่ไหว อย่างศบส. 41 คลองเตยบุคลากร 82 คนดูคนเป็นแสนก็ไม่มีทาง ทุกอย่างเลยไหลไปทุติยภูมิ ตติยภูมิ ไป รพ.หลักก็แน่น เพราะคนไม่ไว้ใจปฐมภูมิ

"การแก้ไขจึงสำคัญมากระบบสาธารณสุข กทม. เราเริ่มแล้ว เราทำแซนด์บ็อกซ์ 2 จุด คือ ดุสิตโมเดล และราชพิพัฒน์โมเดล  ซึ่งจะมี รพ.แม่ข่าย ลงมา ศลส. แล้วเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา ลงมาระดับเส้นเลือดฝอยในชุมชน เพื่อให้ประชาชนไว้ใจเข้าระบบปฐมภูมิมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เทเลเมด พบหมอโดยไม่ต้องไป รพ.หรือเข้าไปในชุมชน  คาดว่า ส.ค.นี้น่าจะแล้วเสร็จที่ราชพิพัฒน์และนำไปขยายผลได้ เรื่องนี้ทำด้วยคนเดียวไม่ได้  อสส.เรามีน้อยมากก็ต้องเพิ่มขึ้น อีกคนที่สำคัญ อสท. อาสาสมัครเทคโนโลยีประจำตำบล ที่จะช่วยสอนผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยี" นายชัชชาติกล่าว