ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ รพ.ทุกสังกัดทั้งรัฐ-เอกชน จัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิด19 ได้เอง ทั้ง "ยาฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์"  มีผล 1 ก.ย.นี้  ขณะที่ "อนุทิน" มอบ สปสช. จัดทำราคากลาง หากขายโดยตรงราคาสูงเกินจริง แจ้ง สธ. ดำเนินการจัดซื้อตามเดิม  พร้อมปรับโควิด19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ต.ค.65 

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า   สาระสำคัญในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มี 4 เรื่อง คือ 1.เห็นชอบกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19  เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการหลังการระบาดใหญ่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในการบริหารจัดการยาในรพ.ต่างๆ จะมีการอนุญาตให้รพ.ต่างๆ สามารถจัดหายาต้านไวรัสเองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2565 เป็นต้นไป ส่วนค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยยังสามารถเบิกกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่นๆ โดยประชาชนรักษาได้ตามสิทธิ์

2.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องยกเลิกชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย ฉบับที่..พ.ศ. และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยได้ปรับโรคโควิด19 จากโรคติดต่ออันตรายให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน

3.รับทราบสถานการณ์โรคโควิด19 และการเฝ้าระวังโรคโควิด19 ในประเทศไทย โดยมีแนวโน้มพบติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนเริ่มเข้าใจว่าโรคไม่รุนแรง สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ ซึ่งทุกวันนี้สามารถให้การรักษาพยาบาลประชาชนที่ติดเชื้อโควิดตามดุลพินิจของแพทย์ โดยเราได้เตรียมยารักษาโรค เตรียมวัคซีน และเตรียมภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

ส่วนดรามาที่เกี่ยวกับยา น่าจะเคลียร์แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเราไม่ได้ขาดยา ใครที่บอกว่าขาดยา ต้องไปดูว่า แพทย์ที่สั่งจ่ายท่านมีดุลพินิจอย่างไร ไม่ใช่ทุกคนต้องรับยาต้านไวรัส อย่างการประชุมวิชาการของกรมการแพทย์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ภูเก็ต ได้พิจารณาเรื่องนี้  ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรมยืนยันไม่ได้ขาดยา และได้จัดส่งยาตามเขตสุขภาพ และส่งต่อไปตามจังหวัด ดังนั้น หากมีปัญหาที่รพ.ใด ขอให้แจ้งมาเป็นรพ. จะได้ติดตามถูก เพราะแต่ละเขตสุขภาพก็มีการสต็อกยาตามเขตอยู่แล้ว  

"ที่ผ่านมาอาจเป็นเรื่องไม่เข้าใจกัน สื่อสารผิดพลาด เราไม่เคยมีสถานการณ์ขาดยา หรือเวชภัณฑ์ใดๆ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ เรายังใช้อยู่ ทั้งที่มีความกังวลว่า ยาโมลนูพิเราวียร์ถูกกว่าฟาวิฯ แต่ทำไมยังใช้อยู่ ก็อย่างที่นำเรียนว่า ยาโมลนูฯ ตามข้อบ่งชี้ให้แก่คนอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ผู้ป่วยติดเชื้อที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ยาโมลนูฯไม่ได้ขึ้นทะเบียนจึงให้ไม่ได้ ต้องให้ฟาวิฯ ทางการแพทย์ยังยืนยันว่า ยาทั้งคู่รักษาโควิดได้" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า 4.ส่วนเรื่องฝีดาษวานร ได้ชี้แจงให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อฯรับทราบ ซึ่งเห็นว่ายังควบคุมได้ และได้มีการสั่งซื้อวัคซีนมารองรับให้กลุ่มเสี่ยงก่อน อันดับแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ที่เสี่ยง เราจะจัดให้ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในข่ายที่มีพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิด มีความเสี่ยงสูง วัคซีนก็จะถูกนำไปให้แก่คนเหล่านี้ 
อย่างไรก็ตาม วัคซีนฝีดาษวานร ณ ตอนนี้ยังไม่ใช่วัคซีนที่ให้แพร่หลายเหมือนวัคซีนโควิด19 เรายังเน้นให้ตามความเสี่ยง และเรายังเน้นให้การรักษาตามอาการของโรค ซึ่งยังอยู่ในระดับควบคุมได้ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วย 4 รายซึ่งมีพฤติกรรมความเสี่ยงชัดเจน ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดผลก็ยังเป็นลบอยู่ แม้ล่าสุดรายฝรั่งเศสที่มีอาการคล้ายฝีดาษวานร แต่เมื่อตรวจเชื้อไม่พบว่า เป็นฝีดาษวานร

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ให้รพ.ซื้อยาต้านไวรัสฯเอง คือรัฐและเอกชน หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า  รพ.ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน อันนี้ไม่ได้เท  ซึ่งสมัยก่อนกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการและกระจาย แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ก็จะขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยาที่มาขึ้นทะเบียนถูกต้อง หากจะขายโดยตรงให้กับรพ.ก็ดำเนินการได้ หรือแม้กระทั่งมาร้านขายยาก็ได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะขายได้ แต่ก็ขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยาว่าจะส่งระดับไหน ก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ระดับโรคโควิด19

เมื่อถามว่าการจัดซื้อยาจะเป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ทางสปสช.จะมีการดำเนินการพิจารณาราคากลาง หรือราคาอ้างอิง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่หากยามีราคาแพงมากเกินไป กรณีไปซื้อขายโดยตรง ก็ให้มาแจ้งกระทรวงสาธารณสุข เราจัดซื้อและกระจายให้เหมือนเดิม

"สำหรับยาที่ใช้รักษาโควิดนั้น ต้องย้ำว่า ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องไปซื้อติดบ้าน ซึ่งหากเรารักษาตามสิทธิ์เราก็รักษาได้  แม้แต่ไปรักษาเอกชนกรณีฉุกเฉินก็ยังสามารถใช้สิทธิ์ยูเซปได้ รัฐบาลยังดูแลอยู่ จริงๆการไปซื้อยา หากแพทย์ไม่สั่งก็ไม่สามารถซื้อได้ เรามีกลไกอยู่ ต้องมีใบสั่งแพทย์" นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่านี่คือลดบทบาทองค์การเภสัชกรรมหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า องค์การเภสัชฯก็เป็นผู้จัดหาอีก 1 ราย เราปล่อยให้เป็นกลไกตลาด

เมื่อถามว่า กระทรวงสาธารณสุขมาเปิดให้รพ.ซื้อขายเอง ถือว่าช้าไปหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน หากฟังคนโน้นทีคนนี้ทีแล้ววิ่งตาม คงไม่ได้ เราต้องมีองค์ความรู้ มีการตัดสินใจของเรา ซึ่งผ่านคณะกรรมการที่ถูกต้องตามกฎหมาย การรักษา การใช้ยา เรามีคณะกรรมการวิชาการ นโยบายในการบริหารจัดการโรคระบาดเรามีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรามีคนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณา

ทั้งนี้ นายอนุทิน ย้ำว่า โควิดจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่ใช่โรคประจำถิ่น ทุกอย่างขึ้นกับคำนิยาม แต่ต้องย้ำว่า เรายังเฝ้าระวัง มีระบบรองรับทางการแพทย์เช่นเดิม และเรื่องนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ยังรับบริการได้เช่นเดิม   

"ส่วนการลดระดับเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง เมื่อคณะกรรมการวิชาการมีมติ และเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อฯ น่าจะมีผลวันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีการพูดถึงว่า ในอนาคตอันใกล้อาจมีวัคซีนโควิดรวมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนยาก็อาจมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น 

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org