ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) ระยะเวลา 6 ปี โดยเป็นแผนต่อเนื่องมาจากยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ พ.ศ. 2554 – 2563 ที่สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อควบคุมขนาดและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย จึงมีการกำหนดแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ หนึ่งในนั้นคือ กลยุทธ์การขึ้นราคาผ่านระบบภาษี มีระบบการคิดภาษีที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และโปร่งใสตรวจสอบได้ มาตรการกำหนดราคาขั้นต่ำ (minimum unit pricing) ตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม การผูกอัตราภาษีกับเงินเฟ้อ เช่น โครงการสนับสนุนการพัฒนากลไกด้านมาตรการภาษี โครงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกระบบภาษี (1)

นี่เป็นเพียง 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ของภาครัฐเพื่อลดระดับความรุนแรงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่รัฐบาลกล่าวว่า เมื่อผู้เสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ก็จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากโรคทุกโรคที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คงจะเกิดคำถามตามมาว่า มันจะเป็นการริดรอนสิทธิ์ของนักดื่มหรือไม่? ตอบว่า ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่จะต้อง "ก้าวล่วงนักดื่ม" เพราะนี่คือเจตนารมณ์สากลของรัฐบาลต่างๆ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สภาที่ปรึกษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD Advisory Council ) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดตัวการริเริ่มที่จะเพิ่มภาษีสุขภาพสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภูมิภาคยุโรป เพราะการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการน้อยที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากการคัดค้านจากผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ และเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคามักไม่เป็นที่นิยมของประชาชน (2)

แต่การวิจัยที่ผ่านมาหลายทศวรรษและจากประสบการณ์ในประเทศจากทั่วทุกมุมโลกแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านการเก็บภาษีเป็นหนึ่งในนโยบายที่คุ้มค่าที่สุดที่ใช้เพื่อลดระดับการดื่มและอันตรายที่เกิดจากแอลกอฮอล์ สิ่งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นการแทรกแซงที่ “เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด” ที่ริเริ่มโดย WHO ส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้นในการลดการเจ็บป่วย ความทุพพลภาพ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าทางเลือกนโยบายอื่นๆ

เอาเฉพาะแค่ในยุโรป การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วทั้งภูมิภาคทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ล้านคนในแต่ละปีจากสาเหตุต่างๆ มากมาย รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง และโรคไม่ติดต่ออื่นๆ (NCDs) ตลอดจนโรคติดเชื้อและการบาดเจ็บ ทุกวันในภูมิภาคนี้ มีคนประมาณ 2,500 คนเสียชีวิตเพราะแอลกอฮอล์

แต่หากประเทศสมาชิกเพิ่มภาษีแอลกอฮอล์มากขึ้น ในแต่ละปีจะสามารถช่วยชีวิตคนได้หลายพันคนในเขตยุโรป เนื่องจากภาษีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วทั้งภูมิภาคต่ำกว่าภาษียาสูบ ดังนั้นสภาที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมของยุโรป และสภาที่ปรึกษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงได้เสนอความคิดริเริ่มพร้อมกับทำการลงนามใหม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสำหรับประเทศต่างๆ เพื่อพิจารณาในนโยบายการคลังของประเทศเหล่านี้

“ในบริบทของแอลกอฮอล์ การเก็บภาษีควรถือเป็นมาตรการด้านสุขภาพ ไม่ใช่เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว วันนี้ มีฉันทามติที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิกที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของ WHO เกี่ยวกับส่วนแบ่งภาษีขั้นต่ำ 75% ของราคาขายปลีกยาสูบ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำเร็จไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 53 ประเทศในภูมิภาคนี้ แต่มีการดำเนินการน้อยมากเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยมาตรการเดียวกัน” ดร. คารินา เฟร์เรรา-บดอร์เกส ผู้อำนวยการโฆษณาชั่วคราวสำหรับโรคไม่ติดต่อ ผู้จัดการโครงการสำหรับแอลกอฮอล์และยาผิดกฎหมาย WHO สาขายุโรป กล่าว

จากการศึกษาที่ดำเนินการโดยคณะทำงานของสภาที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมของยุโรป และสภาที่ปรึกษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบว่าหากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปของ WHO กำหนดให้เก็บภาษีขั้นต่ำ 15% จากราคาขายปลีกต่อหน่วยแอลกอฮอล์ โดยไม่คำนึงถึงประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยชีวิตได้ 133,000 คนในแต่ละปี

ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยสัดส่วนภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าการเพิ่มภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในฐานะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการสาธารณสุข และแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จำนวนเท่าใดก็ควรมีราคาเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ตาม 

“เราต้องจำไว้ว่าราคาสุดท้ายที่ผู้บริโภคจ่ายต่อขวดนั้นมีความสำคัญ  เช่น ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 10 กรัม แต่พวกเขาซื้อขวดเบียร์ ไวน์ หรือสุรา ดังนั้นระดับราคาเครื่องดื่มใดๆ ก็ตามควรอยู่ในระดับเดียวกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ภานั้นยใน” ดร.เยอร์เกน เรห์ม อธิบาย ซึ่งเขาเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาโรคไม่ติดต่อ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่สถาบันวิจัยนโยบายสุขภาพจิต และสถาบันวิจัยสุขภาพจิตครอบครัวแคมป์เบลล์ที่ศูนย์การเสพติดและสุขภาพจิต โตรอนโต ประเทศแคนาดา (2)

ไทยเริ่มแล้ว ยุโรปเริ่มแล้ว แล้วที่อเมริกา? ที่สหรัฐอเมริกา การขึ้นภาษีสกัดการดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นประเด็นเช่นกัน หากจะพิจารณาว่า ในปี 2553 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ประมาณการว่าการดื่มมากเกินไปทำให้มีผู้เสียชีวิต 88,000 รายในแต่ละปีในสหรัฐอเมริกา และเมื่อถึงปี 2561 น่าจะเกิน 100,000 รายต่อปีแล้ว (3)

เทรซี ทูเมย์ นักระบาดวิทยาที่เน้นเรื่องนโยบายแอลกอฮอล์ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตากล่าวกับ Vox ว่า ภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการศึกษามากที่สุดในแง่ของนโยบายแอลกอฮอล์ และเมื่อพิจารณาจากการศึกษาชิ้นที่ดีที่สุด ชี้ให้เห็นว่า เมื่อราคาแอลกอฮอล์สูงขึ้น คาดว่าปัญหาต่างๆ จะลดลง จากการวิจัยพบว่า ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้นอาจจะช่วยลดการดื่ม โดยเฉพาะการดื่มมากเกินไป ช่วยชีวิตคนหลายพันคน และป้องกันอาชญากรรมทุกประเภทและปัญหาด้านสาธารณสุข (3)

แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาทำตรงกันข้าม เช่น ในกฎหมายภาษีที่ผ่านปี 2560 โดยพรรครีพับลิกันในสภาและวุฒิสภา กลับลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง 16% ตามการวิเคราะห์โดย อดัม ลูนีย์ ที่สถาบัน Brookings ซึ่งเขาประมาณการว่ากฎหมายนี้จะทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เพิ่มขึ้นระหว่าง 280 ถึง 660 รายต่อปี และเสียชีวิตจากสาเหตุทั้งหมดประมาณ 1,550 รายต่อปี (4)

แม้ฝ่ายการเมืองของสหรัฐอเมริกาจะทำสวนทางกับฝ่ายวิชาการ แต่เมื่อกางงานวิจัยตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านๆ จนถึงทุกวันนี้ จะบพว่ามีผลออกมาทางเดียวกันหมด เช่น ตัวอย่างเช่นงานวิจัยของ Cook and Durrance (2011) พบว่าภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2534 ช่วยลดการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บได้ 4.7% หรือลดการเสียชีวิตเกือบ 7,000 คนในปี 2534 (4)

งานวิจัยของ Chaloupka et al (1993) สรุปว่าภาษีสรรพสามิตเบียร์ที่สูงขึ้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการลดการขับรถขณะมึนเมา และนโยบายที่ปรับภาษีเบียร์ของรัฐบาลกลางสำหรับอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2494 จะลดอัตราการเสียชีวิตได้ 11.5% ระหว่างปี 2525 - 2531 การวิจัยของ  Ruhm (1996) ประมาณการว่าการเพิ่มภาษีเบียร์ขึ้น 78% ในปี พ.ศ. 2531 (จนถึงระดับที่มีผลบังคับในปี 2518) จะส่งผลให้การเสียชีวิตบนทางหลวงลดลง 7 - 8% ช่วยชีวิตได้ 3,300 ถึง 3,700 คนต่อปี (4)

การศึกษาอื่นๆ ยังแสดงให้เห็นการลดลงของโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ การฆาตกรรม ความรุนแรงในครอบครัว อาชญากรรมอื่นๆ และการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่คล้ายคลึงกัน (ดูการศึกษาของ Chaloupka et al. 2002) จากการศึกษาเหล่านี้ พบว่าหากภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 16% คาดว่าจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากยานยนต์เพิ่มขึ้นระหว่าง 281 ถึง 659 รายในปี 2559 (เทียบกับเส้นพื้นฐานที่ 37,461 ราย) และผู้เสียชีวิตจากแอลกอฮอล์เพิ่มเติม 1,550 ราย (4)

นี่คือตัวเลขจากงานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกายังลังเลหรือแม้แต่ทำสวนทางกับงานวิชาการ ในท้ายที่สุดพวกเขาก็ปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ดี และจะเห็นได้ว่ายุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการดื่มของมึนเมามากที่สุดแห่งหนึ่งได้ตระหนักในเรื่องนี้และเริ่มขยับใช้มาตรการขึ้นภาษีแล้ว

 

อ้างอิง

1. "ครม.อนุมัติแผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระยะ 2 หวังสกัดนักดื่มหน้าใหม่". (16 ส.ค. 65). สำนักข่าวอินโฟเควสท์

2. "New WHO signature initiative shows raising alcohol taxes could save 130 000 lives per year". (23 February 2022). WHO.

3. Lopez, German. (Dec 13, 2018). "The case for raising the alcohol tax". Vox.

4. Looney, Adam. (ovember 22, 2017). "Measuring the loss of life from the Senate’s tax cuts for alcohol producers" Brookings Institution.

 

ภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/File:Emil_Mayer_024.jpg