ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมนัดสุดท้ายส่งมอบภารกิจปลัด สธ. คนใหม่ รองปลัด อธิบดี ผู้บริหารชุดใหม่ ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป หวังเดินหน้างานไร้รอยต่อ  เตรียมพร้อมรองรับโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง  1 ตุลา โดยเฉพาะยาต้านไวรัสมีเพียงพอ ส่วนให้ซื้อร้านขายยายังต้องมีใบสั่งแพทย์ "อนุทิน" ย้ำระบบรัฐมียารองรับ หากแพทย์วินิจฉัยไม่ต้องให้ยาต้องเป็นไปตามดุลยพินิจแพทย์ 

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งมอบพระพุทธนิรามัย พระประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้แก่ นพ.เกียรติภูมิ วงศรจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จะเกษียณในเดือนกันยายนนี้

นายอนุทิน กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ประชุมวันนี้ เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปลัด สธ.ท่านปัจจุบัน ซึ่งมีการแสดงมุทิตาจิต และมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจหน้าที่ งานต่างๆ เพื่อไม่ให้มีรอยต่อ ไม่มีผลกระทบใดๆต่อการให้บริการประชาชน นอกนั้นที่ประชุมมีการรายงานสภาวการณ์ทั่วไป ซึ่งทุกอย่างอยู่ในภาวะที่ดี ควบคุมได้ เตรียมพร้อมสู่การลดระดับความรุนแรงของโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันเดียวกับผู้บริหารชุดใหม่ ตำแหน่งใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งปลัดใหม่ รองปลัดใหม่ อธิบดีใหม่ ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการบริการยังเหมือนเดิม รักษาตามอาการ ลงทะเบียน ถ้าผู้ป่วยแต่ละหมวด 608 สูงอายุ ถ้าเข้าถึงต้องใช้ รพ.พร้อม กรณีผู้สูงอายุเข้าหมวดที่ต้องใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long-Acting Antibody (LAAB)   ตอนนี้ก็มีการแจกจ่ายยาไปให้ผู้ป่วยสูงอายุ โดยส่วนใหญ่มีหลายคนที่รู้จัก ตอนนี้ร้อยละ 98 ยังไม่ไดรับวัคซีน จึงขอย้ำว่า ไม่ว่าอายุเท่าไหร่อยู่บ้าน ไม่ออกไปไหนก็ควรรับวัคซีนตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข  เพราะถ้าป่วยแล้วไม่มีวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 โอกาสอาการรุนแรงสูง แม้มี LAAB ก็ไม่แน่ใจว่าทันหรือไม่ ดังนั้น ยังป้องกันได้ และคนที่รับวัคซีนครบโดส อย่างกลุ่มรับบูสเตอร์โดสอาการรุนแรงน้อย  อย่างข้อมูลผู้ป่วยวันนี้ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจลดลง เหลือ 300 กว่าราย อัตราเสียชีวิตในกลุ่ม 608 ลดได้ 100% ขอให้ช่วยกันกระจายว่าควรมารับวัคซีนไม่ว่าเข็มใด  

เมื่อถามกรณีการสำรองยามีการปรับอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับยาที่ใช้รักษาโควิด มีทั้งนำเข้าเอง และผลิตเอง ซึ่งผู้ป่วยทีได้รับวัคซีนส่วนใหญ่ เมื่อป่วยทางแพทย์จะวินิจฉัยตามอาการ ไม่ใช่ว่า ใครป่วยโควิดจะต้องได้รับยาฟาวิฯ หรือโมลนูพิราเวียร์ทุกคน แต่ต้องขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจว่ามีคนป่วยด้วยโรคโควิด ความพร้อมของการให้บริการด้านสุขภาพ สธ.ยังพร้อม 100% 

กรณีถามถึงการซื้อยาต้านไวรัสฯ ในร้านขายยาต้องมีใบสั่งแพทย์ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยาดังกล่าวยังอยู่ภายใต้การใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงต้องให้แพทย์สั่งจ่าย อย่างไรก็ตาม  ระบบการจัดส่งยาของรัฐยังมีอยู่ อย่าง Home Isolation   ซึ่งหากแพทย์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้ยา ก็ไม่ต้องไปซื้อ คอร์สละหมื่นบาท ไม่ใช่ถูกๆ   เป็นต้นทุนที่ใช้ในระบบ เรามียาที่เป็นไลเซนส์ (License) ในระบบ ซึ่งราคาถูกลง แต่ถ้าไปซื้อด้วยตัวเองที่ร้านขายยา จะไม่สามารถไปกำหนดราคาได้ เป็นการกำหนดระหว่างผู้ผลิตและลูกค้า สธ.ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ แต่ยาเหล่านี้เรามีเตรียมให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อเอง  

 
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แนวทางการจัดการวัคซีนปีหน้าจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คนละบัญชี เพราะโรคเฝ้าระวัง คือ เราคุมโรคได้ แต่การเสริมภูมิคุ้มกันยังต้องทำเรื่อยๆ ส่วนแนวทางจะให้วัคซีนอย่างไรก็ต้องอยู่ที่สถานการณ์

เมื่อถามถึงกรณีที่สมาคมเภสัชกรรมชุมชนเสนอให้มีการปรับให้เภสัชกรประจำร้านยาสามารถจ่ายยาต้านไวรัสโควิดเองได้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ให้ข้อมูลว่า ยาเหล่านี้ยังไม่ใช่ยาทั่วไป ต้องมีใบสั่งแพทย์ก่อนและยังเป็นโรคใหม่ แต่เราจะปรับตามความเหมาะสม

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org