ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดี  พบ 1 รายในไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน  “BA.2.75.2”  เจเนอเรชัน 3   กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75   เตรียมพร้อมการตรวจกรองรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโอไมครอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุเตือนโควิดสายพันธุ์ โอไมครอน BA.2.75.2 กลายพันธุ์จาก BA.2.75   ว่า

สถาบันจีโนมประเทศอินเดีย (India's genome sequencing agency, INSACOG)  แถลงเตือนว่าโอไมครอน BA.2.75 ซึ่งเริ่มพบระบาดในอินเดียมาตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2565  คิดเป็นร้อยละ 82.9 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่  BA.2.75 มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านไม่ยอมรับคือ “เซนทอรัส (Centaurus) หรือมนุษย์ครึ่งคนครึ่งม้าในเทพนิยายกรีก” อันมีนัยถึงการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดเมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่นที่เคยมีการระบาดมาก่อนหน้า ขณะนี้พบว่าโอไมครอน BA.2.75 ได้มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องไปอย่างไม่หยุดยั้ง หนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์ไปคือ “BA.2.75.2”  โดยมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "เซนทอรัส 2.0" เปรียบเสมือนเป็นลูกคนที่สองของ BA.2.75 (ลูกคนแรกคือ BA.2.75.1)

ผู้เชี่ยวชาญภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ทวีตว่าโอไมครอน BA.2.75.2 เป็นสายพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากขึ้นไปอีกในอนาคต เป็น "The Super Contagious Omicron Subvariant" 

โอไมครอน BA.2.75 กลายพันธุ์มาจาก BA.2 ถือได้ว่าเป็นเจเนอเรชัน 2 ( 2nd generation) โดยมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 95-100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)  ประมาณ 37% เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่ระบาดอยู่ในอินเดียในปัจจุบัน

โอไมครอน BA.2.75.2  กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75  ถือได้ว่าเป็นเจเนอเรชัน 3 ( 3rd generation) โดยมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 95 -100 ตำแหน่งเช่นกันแต่มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ถึง 248% เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.2.75 ที่ระบาดอยู่ในอินเดียขณะนี้  พบการระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดีย และแพร่ไปยังประเทศ  ชิลี อังกฤษ สิงคโปร์ สเปน เยอรมนี และ ประเทศไทย

โอไมครอน BA.2.75.2  มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ถึง 90%  เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.5  (ภาพ 6)  และ 148% เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.4  ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก   โอไมครอน BA.2.75.2 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนาม 3 ตำแหน่งที่ต่างไปจากโอไมครอน BA.2 และ BA.2.75 คือ S:R346T, S:F486S, S:D1199N   สามารถใช้เป็นตำแหน่งตรวจกรองด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม หรือการตรวจด้วย PCR

จากการสืบค้นจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบ “โอไมครอน BA.2.75.2 จากประเทศไทยที่อัปโหลดขึ้นมาบน GISAID เพียงรายเดียว” ยังไม่สามารถคำนวณความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เปรียบเทียบกับโอไมครอน BA.4 และ BA.5 ที่ระบาดในประเทศไทยได้เพราะจำนวนตัวอย่าง BA.2.75.2 ในประเทศไม่มากพอ (ภาพ5) 
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ มีความจำเป็นที่จะต้องแยกโอไมครอนสายพันธุ์ต่างๆออกจากกันให้ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น BA.2, BA.4,  BA.4.6, BA.5, BA.2.12.1,  BA.2.75, BA.2.75.2  ฯลฯ เพราะการรักษาโควิด-19 เริ่มมีลักษณะมุ่งเป้า (precision medicine) มากขึ้นเป็นลำดับ ต่างจากการรักษาในช่วงต้นของการระบาดในปี 2019 ซึ่งผู้ป่วยทุกรายรักษาเหมือนกัน (One-size-fits-all) เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเวชภัณฑ์ อาทิ วัคซีน (เข็มหลัก และ เข็มกระตุ้น)  ยาต้านไวรัส และ แอนติบอดีสังเคราะห์ หลายประเภทมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือรักษาไวรัสโคโรนา 2019 แต่ละสายพันธุ์ ที่แตกต่างกัน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์แจงพบโอมิครอน BA.2.75.2 เป็นสายพันธุ๋ย่อย ยังไม่มีข้อมูลจริงว่า รุนแรงหรือแพร่เร็ว อย่าเพิ่งวิตกกังวล ขอให้ตั้งสติ)

ภาพจากCenter for Medical Genomics

อ้างอิงจาก 
https://economictimes.indiatimes.com/.../94128543.cms...
https://timesofindia.indiatimes.com/.../arti.../94124689.cms
https://www.facebook.com/.../pfbid0oxPLAwPY7LDRb6RvH8boHj...

เรื่องที่เกี่ยวข้อง