ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ล่าสุดเห็นชอบยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และสิ้นสุด ศบค. มีผล 30 ก.ย.นี้ โดยเตรียมแผนรองรับ 1 ต.ค.65 จากนี้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บังคับใช้ตามเดิม

 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงภายหลังประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 ในภาพรวมทั่วโลก มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และแนวโน้มของผู้เสียชีวิตลดลง ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ปรับให้โรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ลุ้น! ศบค.เห็นชอบข้อเสนอ สธ. เมื่อโควิดไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย จะยังมีพรก.ฉุกเฉิน อีกหรือไม่)

ดังนั้น เห็นควรให้พิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ นรม. และ ครม. ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลใน วันที่ 30 กันยายน 2565 และเป็นการสิ้นสุด ศบค.ด้วย

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สธ.ได้รายงานสถานการณ์โควิด-19ในไทย ผู้ป่วยรายใหม่ 752 ราย เสียชีวิต 9 คน การใช้เตียงอยู่ที่ 8.3% ลดลงจากเดือนก.ค.ที่อยู่ที่ 10.9% ซึ่งภาพรวมปัจจุบันผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตต่ำกว่าเส้นคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดทั้งหมด นี่คือสิ่งที่ทุกคน บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนช่วยกัน

“สธ.คาดการณ์สถานการณ์หลังจากนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2565-2566 อาจมีการระบาดเป็นคลื่นระลอกเล็กๆได้ขึ้นๆลงๆ เสียชีวิตต่ำกว่า 10 ราย แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์ จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคล และใส่หน้ากากอนามัยต่อไป” โฆษก ศบค. กล่าว

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับการนำเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอภาพการท่องเที่ยว โดยพบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทย 5.2 ล้านคน ขณะที่เมื่อปี 2564 มีเข้ามา 4 แสนคน โดยตั้งแต่วันที่  1 ม.ค.-21ก.ย.2565 สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเปิดด่านทั้งทางบก ทางอากาศ เปิดหมดแล้ว  ทั้งนี้ เมื่อรวมกับที่คนไทยเที่ยวไทย สร้างรายได้ 6 แสนล้านบาท โดยเป็นนักท่องเที่ยวไทย 67% และต่างชาติ 33%

ทั้งนี้ สำหรับแผนปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อโควิด เมื่อไม่มี ศบค. ก็จะมีพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีแผนเตรียมการไว้หมดแล้ว และผ่านความเห็นชอบมาแล้วสักระยะหนึ่งเช่นกัน โดยขณะนี้ไทยมีอัตราการป่วยตายน้อยกว่า 0.1%  อัตราครองเตียงอยู่ที่ 11-24%  ซึ่งอัตราเตียงเพียงพอ และยุทธศาสตร์ยังคงเป็น 4 ยุทธศาสตร์ให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป