ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 นพ. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมาตรี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดยเป็นการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกัญชาทางการแพทย์ของหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยในครั้งนี้ได้เน้นการติดตามผลกระทบที่สังคมมีความกังวล โดยกรมการแพทย์ได้นำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับพิษเฉียบพลันจากกัญชา จาก 3 แหล่ง คือ ฐานข้อมูลของกรมการแพทย์ ฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี

พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการปลดกัญชาออกจากรายการยาเสพติด จำนวนผู้ป่วยที่เกิดพิษเฉียบพลันจากกัญชายังไม่ได้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังไม่พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากพิษเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81) อาการดีขึ้นหลังมารักษา โดยกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 21-40 ปี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ใช้ข้อมูลตรงนี้มาทำระบบการเฝ้าระวัง

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการเฝ้าระวังผลกระทบ  เรากำลังทบทวนข้อมูลจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการนำกัญชามาใช้ประโยชน์และทำให้เกิดควบคุมกำกับที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ อย่างในแคนาดา มีการทบทวนข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นระบบ โดยเมื่อเทียบความสามารถในการเสพติด ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมและการใช้ประโยชน์แล้วกัญชามีประโยชน์กว่ายาเสพติดอีกหลายชนิด จึงจัดกัญชาเป็น soft drug  และได้ทำการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้สา

ธารณชนเข้าใจ  ทั้งด้านบวกและลบ และนำมาเป็นฐานคิดในการบริหารจัดการให้เกิดการนำมาใช้อย่างเหมาะสม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย  ทางกระทรวงก็คิดเช่นเดียวกับแคนาดา คือ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการควบคุม  เรามีตัวอย่างดีๆ จากการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพอีกมาก เมื่อเดือนก่อนผมก็ได้ลงพื้นที่ ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกัญชา และได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วย เกษตรกรพบว่า กัญชาช่วยชีวิตเขาได้มาก  ทั้งในด้านความเจ็บป่วย และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ วันนี้ทางโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น จังหวัดสกลนครก็มานำเสนอ เห็นเลยว่า 3 ปีที่เราเอากัญชามาใช้ประโยชน์มากกว่าโทษ  มียาตำรับดีๆ ออกมาให้ประชาชนใช้  เกษตรกรมีรายได้จากการปลูก  มีแหล่งสกัดที่เกษตรกรสามารปลูกแล้วนำไปสกัด แล้วนำสารสกัดมาทำผลิตภัณฑ์ต่อ ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงมีระบบดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน

"วันนี้ในที่ประชุมได้มีข้อสรุปหลังจากเราได้พิจารณาข้อมูลที่รอบด้านแล้วว่า เราต้องเร่งดำเนินการ 4 เรื่อง คือ การสื่อสารสร้างความเข้าใจจากข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน   การวิจัยเพื่อสนับสนุนยาและผลิตภัณฑ์กัญชาใช้  การเข้าถึงการใช้ทางการแพทย์ของผู้ป่วย และการควบคุมกำกับที่เหมาะสมตามหลักวิชาการและวิถีชีวิต ซึ่งมั่นใจว่าหากดำเนินการครบ จะทำให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์บนความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง" นพ ประพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย