ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอบัญญัติ" ชี้กรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เร่งติดตาม ก.พ. ทุกเดือนทวงถาม 3 ประเด็นบุคลากรสาธารณสุข "บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง - กำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข- ปรับเปลี่ยนสายงาน" ส่วนกรณีปัญหาค่าเสี่ยงภัยล่าช้า แม้อยู่ในหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขติดตาม แต่สามารถร้องมายังกมธ.สาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือได้

ตามที่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมร่วมกับสภาการสาธารณสุขชุมชน และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องประเด็นบุคลากรสาธารณสุขเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 และวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาในการติดตาม 3 ประเด็น คือ การกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข การบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิด และการปรับเปลี่ยนสายงานของข้าราชการที่มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษนั้น 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขได้มีการประชุมหารือเรื่องนี้ โดยได้เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการติดตามเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ทุก 1 เดือน ว่า ประเด็นต่างๆ ทั้ง 3 ประเด็น คือ การกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข การบรรจุข้าราชการที่ทำงานโควิด และการปรับสายงานเจ้าพนักงานสาธารณสุขกรณีพิเศษนั้น มีความคืบหน้าอย่างไร 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข มีการดำเนินการมาตลอด เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ รวมไปถึงเรื่องค่าเสี่ยงภัยสำหรับคนทำงานโควิดก็เช่นกัน ซึ่งค่าเสี่ยงภัยผ่านขั้นตอนต่างๆมานานพอสมควรแล้ว ซึ่งหากบุคลากรคนไหนต้องการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหามาทางคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขก็สามารถแจ้งมาได้ทันที โดยแจ้งมาทางตน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ยินดีรับเรื่องและจะทวงถามให้อีกทาง

"เข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานซับซ้อนมาก ผู้บริหารอาจต้องมีฝ่ายเลขาฯที่ละเอียดมากขึ้น และช่วยผลักดันให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขติดตามได้ อย่างเรื่องงบค่าเสี่ยงภัย หรือค่าตอบแทนต่างๆเกี่ยวกับคนทำงานโควิด รัฐบาลมีงบกลางอยู่แล้ว ค่าตอบแทนไม่ต้องผ่านก.พ. อะไรที่กระทรวงฯทำได้ต้องรีบทำให้เสร็จ " นพ.บัญญัติ กล่าว  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางทัศนีย์ บัวคำ ในฐานะผู้แทนสภาการสาธารณสุขชุมชน ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ส.ส. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ว่า สำหรับการติดตามทั้ง 3 เรื่อง แบ่งออกดังนี้

เรื่องที่ 1 การกำหนดตำแหน่งใหม่นักสาธารณสุขเป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะและเชี่ยวชาญเฉพาะ  ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ และให้ฝ่ายเลขานุการมีหนังสือสอบถามสำนักงาน ก.พ. เป็นระยะทุกเดือน เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งใหม่นักสาธารณสุข การรับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และการเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษในการปฏิบัติงานด่านหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 

เรื่องที่ 2 การรับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ กรณีการเสนอขอให้พิจารณาบรรจุข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รอบที่สอง มีการบรรจุเฉพาะสายงานแพทย์ ทันตแพทย์ จำนวน 3,142 อัตรา และพยาบาลวิชาชีพบางส่วน ส่วนบุคลากรในสายงานนักวิชาการสาธารณสุข จำนวน 647 อัตรา ที่ยังไม่มีการบรรจุ ซึ่งตกค้างมาตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้ยังมีมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 จำนวน 63 สายงาน รวม 37,144 อัตรา ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใด

เรื่องนี้จะมีการทวงถามเช่นกัน และขอให้สำนักงาน ก.พ. สื่อสารข้อมูลกับผู้ร้อง ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเวลาล่วงเลยมานานแล้ว ขณะที่สภาการสาธารณสุขชุมชนได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาการกำหนดตำแหน่งใหม่นักสาธารณสุขไว้อย่างเพียงพอที่สำนักงาน ก.พ. จะนำไปประกอบการพิจารณาให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งมีพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 รองรับไว้แล้ว

เรื่องที่ 3 การเปลี่ยนสายงานของข้าราชการที่มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษในการปฏิบัติงานด่านหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เรื่องนี้สภาการสาธารณสุขชุมชน มีหนังสือร้องติดตามความก้าวหน้าทั้ง 3 เรื่องข้างต้น ไปยังคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 10 ตุลาคม 2565 โดยมติที่ประชุม  คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ส.ส.วันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปยังสำนักงาน ก.พ. และเมื่อทราบผลเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งสภาการสาธารณสุขชุมชนทราบต่อไป
 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org