ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. ประชุมผู้บริหารวางแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ปีงบประมาณ 2566 ตั้งศูนย์คัดกรองผู้ติดยาเสพติดในทุกตำบล ให้รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปทุกแห่งเปิดวอร์ดจิตเวชและยาเสพติด รพ.ชุมชนทุกแห่งตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด หรือหน่วยงานบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด พร้อมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดการบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานบำบัดผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2566 

นพ.โอภาส กล่าวภายหลังการประชุมว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 จะยึดตามกรอบ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (พ.ศ. 2566-2570) และนโยบาย ข้อสั่งการของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อน 5 ด้าน คือ 1.เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด 2.สนับสนุนการบำบัด รักษา ฟื้นฟูที่มีคุณภาพมาตรฐาน 3.สนับสนุนการบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx)

4.ส่งเสริมด้านวิชาการและระบบเฝ้าระวัง และ 5.การบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในเครือข่ายบำบัดรักษาฟื้นฟู พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบำบัดรักษาฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรด้านการบำบัด รักษา ฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ติด (สีแดง) จะให้การรักษาตามระบบผู้ป่วยใน ที่สถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต/กรมการแพทย์ หรือสถานฟื้นฟูฯ ระยะยาว กลุ่มผู้เสพ (สีเหลือง) ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือผู้ป่วยในระยะสั้น ที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ส่วนกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด (สีเขียว) ให้มีการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยให้เร่งรัดดำเนินการ 7 ประเด็น ได้แก่

 
1) สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด สำรวจและขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครอบคลุมทุกตำบล 
2) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ให้การบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx) ให้ครอบคลุมทุกตำบล 
3) สำนักงานสาธารณสุขเร่งตรวจสอบและขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครอบคลุมถึงระดับตำบล 
4) โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้มีหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกแห่ง 

5) โรงพยาบาลชุมชน ให้จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด หรือมีหน่วยงานดูแลบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกแห่ง 
6) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้สนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดแบบระยะยาว 
7) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงทะเบียนบุคลากรผู้ใช้งานระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขรวมถึงกำกับการบันทึกข้อมูล คัดกรอง บำบัด ฟื้นฟูฯ ติดตามให้เป็นปัจจุบัน

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เครือข่ายตื่นรู้สู้ภัยสารเสพติดฯ ยื่นหนังสือร้องรัฐบาลตั้ง "ศูนย์บำบัดฯ" ในชุมชนทั่วประเทศ)