ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) มอบนโยบายการดำเนินงานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แก่คณะผู้บริหาร และบุคลากร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มุ่งเน้นการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ใน 8 ด้าน สร้างสุขภาพดีให้ประชาชนไทยอย่างยั่งยืน

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส. จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ซึ่งในปี พ.ศ.2565 ที่กรม สบส. มีอายุครบ 20 ปี ในฐานะที่กรม สบส. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ และระบบสุขภาพภาคประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตนจึงวางนโยบายการดำเนินงานให้บุคลากร ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ให้เกิดการพัฒนางานด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุมใน 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนางานตามแนวพระราชดำริและเฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งกรม สบส. มีการบูรณาการร่วมกับแต่ละภาคส่วนในการดูแลด้านโครงสร้างอาคาร “สุขศาลาพระราชทาน” เพื่อสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชปณิธานให้พสกนิกรได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี 2.การสื่อสาร สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งกองสุขศึกษา จะต้องพัฒนารูปแบบการสื่อสารให้ทันต่อยุคสมัยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อโซเชียล ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง 3.เสริมสร้างศักยภาพการแพทย์ปฐมภูมิ โดยสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในฐานะหมอคนที่ 1 ให้เป็นสมาร์ท อสม. ร่วมกับการนำพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 มาส่งเสริมการทำงานของหมอคนที่ 2 และ 3

4. คุ้มครองผู้บริโภคจากการรับบริการสุขภาพ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลมีการจัดตั้งสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ มีการนำ  E Submission ระบบการอนุญาตผ่านอินเทอร์เน็ต มีการจัดทำฐานข้อมูลสถานพยาบาลที่เชื่อมโยงกันทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบความถูกต้องของสถานพยาบาลได้ 5. พัฒนานวัตกรรมบริการทางการแพทย์ พัฒนาการสอบเทียบ และรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ให้กรม สบส.เป็นศูนย์ในการตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีแก่ประชาชน

6. ยกระดับการออกแบบโรงพยาบาลให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ลดข้อผิดพลาด มีความเป็นมิตรต่อผู้รับบริการ (User Friendly) มีโครงสร้างที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้บริการ 7. เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพผ่านการให้บริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เร่งพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพทั้ง สปา Wellness และ Medical Hub รองรับการเปิดประเทศ ดึงศักยภาพของสถานพยาบาลเอกชนในการพัฒนาประเทศสู่ศูนย์กลางสุขภาพ และ 8. พัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Department)

ทั้งนี้ นโยบายข้างต้นจะนำไปสู่การพัฒนาหน่วยงาน บุคลากรเกิดความภาคภูมิใจในการให้บริการ และสนับสนุนงานวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุขของประเทศ สร้างสุขภาพดีให้ประชาชนไทยอย่างยั่งยืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง