คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาฯ ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ด้านสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานขอเข้าร่วม ทวงถาม สธ.ถึงภาระงานแพทย์ที่แท้จริง หลังพบควงเวรติดต่อกัน 48 ชม.ต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะแพทย์อินเทิร์นปี 1 ปัญหาสะสมจนต้องลาออก ขณะที่ปลัดสธ.ชี้ไม่เคยนิ่งนอนใจเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญประเด็นภาระงานบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมด
จากกรณีสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ยื่นหนังสือร้องเรียนแก่คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก หรือแพทย์อินเทิร์นปี 1 ที่มีภาระงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควงเวรติดต่อกันไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า และส่วนหนึ่งลาออกจากระบบราชการนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน หนึ่งในแพทย์ที่ปฏิบัติงานช่วยชีวิตผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า หลังจากสมาพันธ์ฯได้ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ และยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการแรงงานเพื่อขอให้ช่วยเหลือชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ให้มีกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้จริงนั้น ล่าสุดทางคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จะติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์กับทางกระทรวงสาธารณสุข โดยจะเดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือกับทางผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในวันที่ 25 ตุลาคม 2565
พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า ทางสมาพันธ์ฯ จะขอเดินทางมาด้วย เพื่อร่วมติดตามเรื่องนี้ เนื่องจากประเด็นปัญหาภาระงานของแพทย์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้เสียที แพทย์ที่จบใหม่ โดยเฉพาะแพทย์ใช้ทุนอย่างแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก ที่เรียกกันว่า หมออินเทิร์นปี 1 ประสบปัญหาหนักมาก ทำงานไม่ได้พัก ควงเวรไม่หยุดต่อเนื่อง 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร่างกายไม่ได้พัก แม้ที่ผ่านมาแพทยสภาจะออกแนวทางขอความร่วมมือเรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์ แต่ความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบรรจุแพทย์ไม่เพียงพอ การกระจายแพทย์ที่ไม่ตรงตามภาระงาน ซึ่งจริงๆเรามีสูตรคำนวณจำนวนแพทย์เทียบเท่าภาระงาน แต่ปัญหาตำแหน่งที่เปิดไม่สอดคล้องกับการทำงานจริง
“พวกเราต้องการทราบว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข มีแผนในการแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเราเรียกร้องมาตลอด เพราะคนเราทำงานควรได้พัก ไม่ใช่ควงเวรจนไม่มีเวลาพักผ่อน สุดท้ายก็จะกระทบต่อการบริการได้ โดยข้อเรียกร้องของเราในเรื่องการควงเวร ขอเสนอว่า หากเวรดึกต้องทำงาน 8 ชั่วโมงแล้วต้องให้มีเวลาพักช่วงเช้าต่อจากนั้นอีก 8 ชั่วโมง และอยากให้เป็นข้อบังคับออกมาเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ขอความร่วมมือของแพทยสภา แต่ก็เข้าใจว่า การบังคับใช้เลยอาจลำบาก เพราหลายรพ.มีแพทย์ไม่พอ แต่ขอให้มีการดำเนินการ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะอยู่แบบนี้ต่อไปอีก” พญ.ชุตินาถกล่าว
แฟ้มภาพ
ผู้แทนสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ อยากทราบว่าปัจจุบันมีการทำข้อมูลระดับประเทศหรือไม่ ว่า ภาระงานแพทย์แต่ละคนทำงานหนักเท่าไหร่ ติดต่อกันกี่ชั่วโมงกันแน่ ส่วนใหญ่แพทย์ทำงานหนัก คือ อินเทิร์น หรือแพทย์เชี่ยวชาญ เพราะหลายพื้นที่อาจไม่เพียงพอทำให้อยู่เวรหนัก เลือกไม่ได้ต้องอยู่เวร บางส่วนอยู่เวรยาวทั้งเดือน
ทั้งนี้ หากไม่แก้ไขก็จะมีแพทย์ลาออกเรื่อยๆ อย่างข้อมูลที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีแพทย์ลาออกระหว่างเรียน 8% ทำงานจริงหลังจากจบ 66.5% และลาออกจากระบบปีละ 3.2% โดยเฉพาะแพทย์อินเทิร์นยอมลาออกมากที่สุด
“นอกจากนี้ ยังสงสัยเกี่ยวกับจำนวนตัวเลขแพทย์ เนื่องจากปี 65 ในระบบและข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามีประมาณ 49,000 คน แต่เมื่อไปสืบค้นข้อมูลอีกจะพบว่า มีอยู่ในระบบจริง 38,820 คน ตรงนี้น่าจะมีการอธิบายว่า มีการกระจายอย่างไร จำนวนแพทย์จริงๆมีเท่าไหร่ และภาระงานเป็นอย่างไร” พญ.ชุตินาถ กล่าว
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข เข้าใจในประเด็นภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่เราให้ความสำคัญ และมีการดำเนินการ โดยจะมีการจัดทำแผนกรอบภาระงานของบุคลากร และอัตรากำลังอย่างเหมาะสม ให้ทันต่อสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ทางสธ.พร้อมหารือกับทางคณะกรรมาธิการการแรงงานเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- กลุ่มหมอขอสิทธิ์ "ชั่วโมงการทำงานแพทย์" ออกเป็นกฎหมายควบคุม แก้ปัญหาภาระงานวนลูปหลายสิบปี
- ปลัดสธ. ร่วม 64 ชมรม สมาคม วิชาชีพต่างๆ แถลงการณ์ 7 ข้อ แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข
-ปลัดสธ.มอบนโยบาย รพ.ทุกแห่งเคลียร์หนี้สินให้หมด โดยเฉพาะอันไหนค้างบุคลากรต้องให้เสร็จภายใน 1 เดือน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1220 views