ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับแพทยสภา จัดฝึกอบรม “หลักสูตรหัตถการและการรักษาสำหรับแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน” มีแพทย์ผ่านการอบรมรุ่นแรกแล้ว 10 ราย ทั้งการผ่าตัดคลอดและการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารให้ปลอดภัย ลดการส่งต่อ และลดค่าใช้จ่าย ในการเดินทางของประชาชน โดยแพทย์สามารถรับค่าตอบแทนเพิ่มได้ตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดค่าตอบแทน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับแพทยสภา จัดการฝึกอบรมในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเวชกรรม “หลักสูตรหัตถการและการรักษาสำหรับแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน” โดยราชวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลต่างๆ มีระยะเวลาการอบรมตั้งแต่ไม่เกิน 6 เดือน, 6 เดือนขึ้นไป และไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งขณะนี้มีแพทย์สำเร็จการฝึกอบรมรุ่นแรกแล้ว 10 ราย ได้แก่ 

1. ด้านการผ่าตัดคลอด โรงพยาบาลอุดรธานี (รุ่นที่ 1) จำนวน 3 ราย 2. ด้านการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา (รุ่นที่ 1) จำนวน 4 ราย และ ด้านการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลพบพระและโรงพยาบาลอุ้มผาง (รุ่นที่ 1) จำนวน 3 ราย

“การอบรมดังกล่าวเป็นการเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นสำหรับแพทย์เพื่อการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล อาทิ การผ่าตัดคลอด ซึ่งบางพื้นที่มีอุปสรรคในการส่งต่อ และขาดแพทย์เฉพาะทาง เช่น อ.พบพระ จ.ตาก อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและปลอดภัย ลดการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยและญาติ” นายแพทย์โอภาสกล่าว

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานของแพทย์กลุ่มนี้ กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าตอบแทนแนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2552 (ฉบับที่ 10) 

พ.ศ. 2559 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2559 และ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2559 ซึ่งมีการกำหนดสิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนสำหรับวิชาชีพแพทย์ที่ให้บริการหรือสนับสนุนในงานด้านการรักษาพยาบาล ด้านการสาธารณสุข ด้านการชันสูตรพลิกศพ หรืองานด้านอื่นที่กฎหมายหรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติไว้อย่างครอบคลุม ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทราบแล้ว