ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขรวม 3 ฉบับ ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง เพื่อให้เกิดความชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ และดูแลผู้บริโภคให้ได้บริโภคอาหารอย่างปลอดภัย โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 65 

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง รวม 3 ฉบับ ได้แก่ 
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 437) พ.ศ.2565 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชงฯ (ฉบับที่ 2) ได้ยกเลิกข้อกำหนดปริมาณสูงสุดของสาร CBD ในผลิตภัณฑ์จากเมล็ด กัญชงดังกล่าว ซึ่งตามประกาศเดิมให้ใช้เมล็ดกัญชง น้ำมัน โปรตีนจากเมล็ดกัญชงเป็นอาหารได้ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนสูง แต่ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ CBD และ THC  ซึ่งตามข้อเท็จจริงพบว่าเมล็ดกัญชงไม่มี CBD และ THC แต่อาจปนเปื้อนได้บ้าง ประกาศฉบับนี้จึงกำหนดไม่ต้องตรวจ CBD เพื่อไม่ให้เป็นภาระจนเกินไป แต่ยังคงให้ตรวจ THC เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
ถัดมาเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 438) พ.ศ.2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่ 2) เป็นการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานอาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค กรณีกลุ่มเครื่องปรุงรส ให้มีสาร THC ไม่เกิน 0.0032% โดยน้ำหนัก และสาร CBD ไม่เกิน 0.0028% โดยน้ำหนัก เนื่องจากเครื่องปรุงรสจะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยในการปรุงอาหาร ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นให้มีสาร THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ สำหรับกรณีที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคหรือขายเป็นวัตถุดิบให้กับสถานที่ผลิตอาหารเท่านั้น ให้กำหนดปริมาณ THC / CBD และคำเตือนให้เหมาะสมกับการผลิตอาหารในสถานที่ผลิตนั้น นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงข้อกำหนดการแสดงฉลากให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ให้ระบุข้อความว่า ไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ ข้อความแสดงวิธีใช้ที่เข้าใจง่าย และกรณีที่ไม่ได้จำหน่ายตรงต่อผู้บริโภคต้องมีข้อความ “ห้ามจำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค” 
สุดท้ายคือประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 439 พ.ศ. 2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่ 2) มีสาระสำคัญคือเพิ่มเติมรายละเอียดข้อกำหนดกรณีสารสกัด CBD ที่ผสมกับวัตถุอื่นเพื่อช่วยในกระบวนการผลิตหรือเพื่อปรับแต่งคุณสมบัติการละลายน้ำของสารสกัด CBD ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร และปรับแก้ไขข้อกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและปริมาณสารสกัด CBD สูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้เหมาะสมมากขึ้น 
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงศึกษารายละเอียดข้อกฎหมาย สามารถเข้าไปดูรายละเอียดประกาศได้ที่ https://food.fda.moph.go.th/law/announ_moph401-450.php เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป รองเลขาธิการฯ อย. กล่าว
วันที่เผยแพร่ข่าว  26   ตุลาคม 2565 ข่าวแจก 15 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566