ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การกินอาหารไม่ตรงเวลา มีผลต่อโรคกระเพาะจริงไหม? ปรับพฤติกรรมอย่างไรจะช่วยลดอาการป่วย 

ด้วยพฤติกรรม การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้บางคนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตรงเวลา จริงหรือไม่ที่ว่า กินข้าวไม่ตรงเวลา จะทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร กรณีนี้ ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม ศิรินธรปัญญา หัวหน้างานโรคทางเดินอาหาร กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวกับ Hfocus ว่า การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาจะทำให้เกิดอาการได้ เพราะร่างกายจะมีกรดที่หลั่งตามเวลา ถ้ารับประทานอาหารไม่ตรงเวลาจะเกิดอาการ อืด แน่นท้อง มีลมได้ แต่ถามว่า จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่นั้น อาจไม่ทำให้เกิดแผล เพราะแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร หรือการกินยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดอย่างแอสไพริน ยาแก้ปวดเข่า ส่วนสาเหตุอื่น คือ ยากดภูมิที่ป้องกันการติดเชื้อบางตัวก็ทำให้เกิดแผลได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและอันตรายมีได้หลายอย่าง อาทิ กระเพาะทะลุ เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอุดตันหรือกระเพาะอาหารตีบ ซึ่งจะส่งสัญญาณเตือน ได้แก่ น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนรุนแรง ต้องรีบมาพบแพทย์ แต่ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หากมีอาการแม้เพียงเล็กน้อย แนะนำให้มาตรวจอย่างละเอียดด้วยการส่องกล้อง 

"ต้องแยกโรคกระเพาะอาหารออกจากการเกิดแผลในกระเพาะอาหารตามที่คนทั่วไปเข้าใจ สำหรับโรคกระเพาะทั่วไป ผู้ป่วยมักจะมีอาการจุกแน่น ตึง ๆ ในกระเพาะ อาจมีกรดเยอะ จึงเกิดอาการไม่สบายท้อง ลักษณะอาการอาหารไม่ย่อยเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีปัญหาในกระเพาะอาหาร ต้องมีการตรวจละเอียดอีกครั้งถึงความรุนแรง" ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม กล่าวและว่า สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 1.การติดเชื้อ 2.การกินยาบางชนิด 3.อาหารการกิน มีความมัน รสเผ็ด 4.ของหมักดอง และ 5.การดื่มเหล้า รวมถึงการติดเชื้อบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ 

สำหรับความแตกต่างของโรคกระเพาะอาหารและโรคกรดไหลย้อน ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม เปิดเผยว่า ทั้ง 2 โรค เกิดจากกรดเช่นกัน สังเกตจากบริเวณที่เกิดอาการ หากเป็นโรคกระเพาะอาหารจะเกิดในบริเวณลิ้นปี่ลงมา อืดท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง บางรายมีแสบท้องคล้ายกับกรดไหลย้อนได้ แสบในท้องไม่ใช่แสบที่หน้าอก แต่กรดไหลย้อนจะเป็นอาการของกรดที่มีต่อหลอดอาหาร แสบหน้าอก เปรี้ยวคอ เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง หอบหืด หรือฟันผุ เป็นต้น 

ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม ยังแนะนำวิธีป้องกันทั้ง 2 โรค โดยปรับพฤติกรรมการกิน 1.งดอาหารที่กระตุ้นให้มีอาการ เช่น รสเผ็ดและเปรี้ยว มีความมัน หรือย่อยยาก  2.เคี้ยวอาหารให้ละเอียด 3.กินแล้วอย่าเพิ่งไปนอน ควรเดินให้อาหารย่อยเสียก่อน 4.หากมีอาการมากขึ้น หรืออาการไม่ดีขึ้น กินยาลดกรดเบื้องต้นได้ เช่น ยาเคลือบกระเพาะทั่วไป เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น แต่จะดีกว่า หากมาพบแพทย์ 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org