ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมมือกับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) Joint Effort of the Two Excellences, for Better Lives of the People กับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี และการแพทย์ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

            

เมื่อเวลา 13:00 น. วันที่ 31 ต.ค. 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานแถลงข่าว “โครงการความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)” โดย ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานแถลงข่าว ร่วมกับ ศ. ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี โดยวัตถุประสงค์สำคัญของความร่วมมือนี้ มีเพื่อเชื่อมต่อความเชี่ยวชาญของสองสถาบัน ให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถผลักดันประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาการบริการด้านการแพทย์และการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์อนาคต รวมถึงการประสานความร่วมมือด้านการวิจัย รวมความโดดเด่นของสองสถาบันให้เกิดเป็นผลงานวิจัยที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศไทยด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวถึงที่มาของโครงการความร่วมมือนี้ว่า เนื่องจากโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ และด้านการแพทย์  ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกด้านอย่างมาก เช่น อำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต  เพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาพยาบาล ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หรือภาวะคุกคามต่อมนุษยชาติที่ยังมาไม่ถึง  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย มีหน้าที่หลักในการให้บริการทางการแพทย์ขั้นสูง การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และการทำงานวิจัยเพื่อสร้างงค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาที่พบอยู่ในปัจจุบัน  ได้เล็งเห็นประโยชน์ของการประสานงานกับสถาบันที่มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า เพื่อนำองค์ความรู้ของแต่ละฝ่ายมาช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้า ปิดจุดอ่อน และต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ

รวมถึงการพัฒนาให้เกิด Digital Health Hub เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ด้านนวัตกรรมที่สนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีโอกาสพบปะกันเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ  ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะประชาชนคนไทย แต่ยังส่งผลดีถึงประชากรในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้อีกด้วย  ความร่วมมือนี้จะครอบคลุมพันธกิจสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อย่างน้อย 2 ด้าน คือ การแพทยศาสตร์ศึกษา และการวิจัยทางการแพทย์ 

1. ด้านการศึกษา เราวางแผนจะพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตที่ส่งเสริมให้บัณฑิตแพทย์มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการแพทย์ในอนาคต

2. ด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่จะนำความรู้ด้าน AI (Artificial Intelligence) มาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น รวมถึงการสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ช่วยยกระดับการรักษาพยาบาลในปัจจุบันให้ดีขึ้น

 

 

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า VISTEC เป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ให้สามารถทำงานวิจัยเชิงลึก พัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ในระดับสากล สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทความต้องการทางภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ความสำเร็จทางด้านงานวิจัยในระดับ ASEAN และ GLOBALVISTEC ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเป็นอย่างมากจากการเผยแพร่ผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าสู่วารสารวิชาการระดับโลก โดยองค์กรจัดอันดับที่ใช้ตัวชี้วัดเฉพาะงานวิจัยคุณภาพสูงอย่าง Nature Index (www.natureindex.com)  ได้จัดอันดับให้ VISTEC ขึ้นเป็น “อันดับที่ 1” ของประเทศไทยในด้านเคมี (Chemical Sciences), วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) และวิทยาศาสตร์รวมทุกสาขา (All Sciences) และเป็นอันดับที่ 2 ในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) นอกจากนี้ VISTEC ยังได้รับการจัดให้เป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ในด้านเคมี (Chemical Sciences) และเป็นอันดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 30 ปี อีกด้วย (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2565)

ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ (AI and Robotics) อย่างเต็มที่ ทำให้ VISTEC ได้ก้าวขึ้นสู่ “อันดับที่ 1” ของประเทศไทย โดยการจัดอันดับของเว็บไซต์ CSRankings: Computer Science Rankings (https://csrankings.org/) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในการจัดอันดับสถาบันการศึกษาทางด้าน Computer Science ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

ในส่วนของการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ นั้น VISTEC ได้พุ่งขึ้นเป็น “อันดับที่ 1” ของประเทศไทยด้านมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม (Innovation Rank) จากการจัดอันดับโดย SCImago Institutions Rankings (SIR 2022)

สร้างสรรค์งานวิจัยชั้นเลิศสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณค่า ที่ผ่านมา VISTEC ได้มีความร่วมมือด้านการวิจัยชั้นเลิศกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE, VISTEC) ได้ร่วมพัฒนาและผลิต “ชุดตรวจ COVID-19 ด้วยเทคโนโลยี CRISPR Diagnostics” ซึ่งได้รับการรับรองทางเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีจุดเด่นที่ความรวดเร็ว สามารถระบุผลได้อย่างแม่นยำ และสะดวกต่อการใช้งาน ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดไปสู่การตรวจโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ และโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ รวมถึงวางรากฐานการผลิตและคิดค้นส่วนประกอบใหม่ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้งานเทคโนโลยี CRISPR Diagnostics ในประเทศไทยต่อไป

ทั้งสองหน่วยงานยังได้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและการบริการทางการแพทย์ โดยทีมวิจัยของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST, VISTEC) ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ปฏิบัติงานวิจัยกับบุคลากรทางการแพทย์ ณ ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช (SiMR) เพื่อพัฒนานวัตกรรมตรวจคัดกรองผู้สูงอายุที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งเบื้องต้นมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติชั้นนำ

 

ปัจจุบันทีมวิจัย IST, VISTEC ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่ในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น อาทิ 1) ต้นแบบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงอัจฉริยะ (Exoskeleton) เพื่อศึกษาการควบคุมการทำงานของระบบหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น การใช้สัญญาณคลื่นสมอง และสัญญาณการเคลื่อนไหวของร่างกายผ่านการประมวลผลด้วยแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียม โดยระบบสามารถปรับการทำงานให้เหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุน และฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล  2) ต้นแบบเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับการแพทย์ทางไกลชื่อว่า “SensAI” มุ่งเน้นไปยัง 2.1) การวัดสัญญาณชีพ (อัตราการเต้นของหัวใจ, อัตราการหายใจ, อุณหภูมิภายนอกของร่างกาย, ระดับความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด และระดับความดันเลือด) 2.2) การตรวจสอบภาวะหยุดหายใจขณะหลับและคุณภาพการนอน  2.3) การตรวจความผิดปกติของการนอนในกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อม  3) การประยุกต์องค์ความรู้จากการทำวิจัยในสาขาการมองเห็นของจักรกล (Computer Vision) เช่น การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยตรวจจับเซลล์มะเร็งในภาพถ่ายเนื้อเยื่อย้อมสี เพื่อลดภาระงานและระยะเวลาในการอ่านภาพของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือการจัดตั้ง “VISTEC-Siriraj Frontier Research Center” เพื่อยกระดับการแพทย์ของประเทศไทย “ปั้นแพทย์ในอนาคตให้เป็นวิศวกรด้วย (Doctor-Engineer)”  ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เริ่มเห็นการผสมผสานของศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมขั้นสูงในสถาบันการศึกษาแนวหน้าแล้ว ยังสอดคล้องกับพันธกิจหลัก 3C ของ VISTEC คือ

1. Cultivate Global Well-versed Leader: การสร้างนักวิจัยระดับโลกที่รอบรู้และมีความเป็นผู้นำ

2. Create New Science: การบุกเบิกการวิจัยวิทยาศาสตร์ใหม่เพื่อการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม

3.  Contribute to National Demands and Global Challenges: การนำความรู้ไปขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสอดรับกับทิศทางระดับโลก