ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมแพทย์ชนบท เผยสาเหตุโพสต์ข้อมูลไร้งบวิจัยกัญชาทางการแพทย์  เพราะเป็นเรื่องสำคัญช่วยกระทุ้งงบฯเพิ่ม! ในปีงบประมาณ 67 หากสธ.มีงบวิจัยรวม 80 ล้านในปี 66 ก็ถือว่าเรื่องดีที่หางบได้ แต่ควรมาจากสำนักงบประมาณเพื่อความต่อเนื่อง เหมือนกระทรวงอุดมฯ ขณะเดียวกันย้ำ! ไม่เคยค้านพรรคภูมิใจไทย เพราะหนุนกัญชาทางการแพทย์เหมือนกัน

 

ตามที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มอบรองปลัดสธ.สอบถามนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) กรณีชมรมแพทย์ชนบทโพสต์ข้อมูลงบประมาณปี 2566 ไม่พบ “งบวิจัยกัญชาทางการแพทย์” ของกระทรวงสาธารณสุข ว่าข้อมูลมาจากตรงจุดใด อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน  เพราะข้อเท็จจริงงบกัญชาทางการแพทย์กระทรวงฯ มีดำเนินการตลอด อย่างปี 2566 มีรวมกว่า 80 ล้านบาท

(อ่านข่าว : ปลัดสธ. มอบ นพ.สสจ. ตรวจสอบกรณีหมอชนบทโพสต์ปมไร้งบกัญชาการแพทย์ ย้ำ! ข้อเท็จจริงปี 66 งบกว่า 80 ล้านบาท)

 

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา  ให้สัมภาษณ์ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท ถึงกรณีดังกล่าวว่า  การที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาโพสต์ข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เปิดเผยค้นหาได้ ในพ.ร.บ.งบประมาณ ประจำปี 2566 ทำให้พบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีของบวิจัยเรื่องกัญชาทางการแพทย์หรือไม่ ปรากฎว่า ไม่มี ทางชมรมฯ จึงโพสต์ข้อเท็จจริง เพราะเป็นห่วงเรื่องการศึกษากัญชาทางการแพทย์ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดอยู่มากในการวิจัย  อย่างไรก็ตาม หากจะมีการตรวจสอบข้อมูลที่ชมรมฯ โพสต์ ตนก็เข้าใจนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

 

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันการใช้กัญชาทางการแพทย์ยังมีข้อจำกัดในเชิงวิชาการเยอะมาก ไม่มีวิจัยรองรับในเชิงประสิทธิภาพ จึงต้องมีงานวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อแพทย์  การที่ชมรมฯ โพสต์ ก็เป็นการตั้งคำถามว่า นี่เป็นการส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์จริงหรือไม่ เราจึงเปิดข้อมูลดังกล่าวผ่านโพสต์เฟซบุ๊ก จากนั้น นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ได้คอมเม้นท์ตอบกลับว่า กรมฯ มีงบวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ผ่านมา 2-3 ปีใช้แล้ว 7 ล้านกว่าบาท แต่เป็นการบริหารงบจากส่วนอื่นที่จัดหามาเพื่อวิจัย ซึ่งทางชมรมฯ ก็ได้ขอบคุณที่ท่านมาให้ข้อมูล

“ขอย้ำว่า ที่เราโพสต์เพราะอยากให้รัฐบาลสนับสนุนงบวิจัยกัญชาทางการแพทย์ในปี 2567 ควรสนันบสนุนตรงนี้  เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้จริง กัญชาที่ปลูกมาก็จะเพื่อสันทนการ เพื่อเศรษฐกิจไปหมด ซึ่งวิชาชีพสุขภาพเราโอเคกับกัญชาทางการแพทย์อยู่แล้ว แต่ยังขาดหลักฐานการแพทย์ที่เป็นงานวิจัย” นพ.สุภัทร กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ไม่ใช่งบประมาณจากสำนักงบฯ เพราะงานวิจัยกัญชาการแพทย์ต้องใช้เวลาหลายปี งบจากสำนักงบฯ จะเป็นปีต่อปีมากกว่า  นพ.สุภัทร กล่าวว่า  งบประมาณวิจัยสามารถขอต่อเนื่องได้ ยกตัวอย่าง กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  มีการใช้งบประมาณประเทศในการวิจัย เพราะการวิจัยไม่จำเป็นต้องจบปีต่อปี อย่าง  SCA จะนะ ก็เหมือนงานวิจัยใช้เวลา 18 เดือนก็เป็นการข้ามปีงบประมาณได้ ฉะนั้น การวิจัยต้องจบใน 1 ปี ไม่ใช่ข้อจำกัดต่อการของบประมาณอยู่แล้ว ซึ่งคำถามต่อว่า ปี2566 สธ.ได้ของบฯ วิจัยกัญชาทางการแพทย์ไว้บ้างหรือไม่ จริงๆ อาจจะมีแต่อาจจะโดนตัดหรือไม่ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ทราบ

 

เมื่อถามว่า สธ.ได้ชี้แจงว่ามีงบฯ ส่วนกระทรวงฯ โดยไม่ต้องขอสำนักงบ ประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์แล้ว นพ.สุภัทร ตอบว่า  ถ้ามีสนับสนุนตรงนี้ เป็นเรื่องที่ยินดี ซึ่งก็ถือว่างบประมาณจำนวนมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นงบจากส่วนไหน    

 

เมื่อถามถึงหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ชมรมแพทย์ชนบทออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องกัญชาอยู่เสมอ เพราะไม่สนับสนุนนโยบายพรรคของพรรคภูมิใจไทย(ภท.) หรือไม่  นพ.สุภัทร กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งนโยบายพรรคภูมิใจไทย ก็สนับสนุนเรื่องนี้ นั่นแสดงว่าเราเห็นด้วยกับโยบายของพรรค คือ กัญชาทางการแพทย์   แต่เราไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี ซึ่งทางภูมิใจไทยก็ย้ำว่าไม่สนับสนุนกัญชาเสรี นั่นแสดงว่า เราต่างสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์   จึงไม่ได้มีปัญหากัน แต่ปรากฎการณ์ปัจจุบัน กลายเป็นกัญชาเสรี มีขายออนไลน์โจ่งครึ่ม ผลกระทบก็มีจริง มีผู้อยากลองใช้กัญชาก็เพิ่มขึ้นจริง ดังนั้น จะต้องมีการควบคุม โดยทาง ชมรมฯ เราเคยแนะนำแล้วว่า หากร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังไม่ผ่านการพิจารณา ทางสธ.ต้องยุติสุญญากาศให้ได้ โดยให้มีการยกเลิก ประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ซึ่งถ้ายกเลิกแล้วก็ไม่กระทบต่อกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกยกเว้นให้ศึกษา วิจัยได้

 

“แต่หาก พ.ร.บ. กัญชาฯ ผ่าน เราก็ยินดี” นพ.สุภัทร กล่าว

 

เมื่อถามต่อว่าหาก พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่ผ่าน ทางชมรมฯ จะทำหนังสือทางการไปยัง ภท. หรือ สธ. หรือไม่ นพ.สุภัทร กล่าวว่า ไม่ต้องทำหนังสือ ตอนนี้เราใช้วิธีสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก ท่านผู้ใหญ่อ่านตลอดอยู่แล้ว  

 

“การทำหนังสือทางการไม่เป็นประโยชน์อะไร เราพิสูจน์แล้วว่า หนังสือจะไปอยู่ในลิ้นชักเสมอ แต่ถ้าออกทางสื่อโซเชียล ท่านได้อ่านทุกบรรทัดแน่ๆ ” นพ.สุภัทร กล่าว

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง