ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ จัดพิธีเปิดหน่วยงานกุมารประสาทวิทยา เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยเด็กทางด้านโรคระบบประสาทตามมาตรฐานสากล 3 พฤศจิกายน 2565 

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เป็นสถาบันเฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง ที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยทุกช่วงอายุ โดยในผู้ป่วยเด็ก  ทางสถาบันมีทีมกุมารแพทย์ระบบประสาท พยาบาลทางด้านระบบประสาทในเด็ก  เจ้าหน้าที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเด็ก และบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางด้านโรคสมองและระบบประสาทโดยเฉพาะ  พร้อมด้วยเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย และเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการรักษา โดยเฉพาะโรคลมชักที่เปิดให้บริการการรักษาแบบครบวงจร ทั้งการใช้ยา การผ่าตัด และกัญชาทางการแพทย์ โดยหน่วยงานกุมารประสาทวิทยาเดิมเคยตั้งอยู่ที่ตึกกุมารประสาทวิทยา และถูกรื้อถอนเพื่อปรับพื้นที่สำหรับการสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2553 และต่อมา  ในปี 2562 คณะผู้บริหารสถาบันประสาทวิทยาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นของงานกุมารประสาทวิทยา เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยเด็กที่มีความซับซ้อนทางด้านโรคระบบประสาทที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านระบบส่งต่อจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมทั้งการมีพื้นที่บริการสำหรับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกมีความปลอดภัย และมีความสุขเมื่อมาโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล ซึ่งเด็กในวันนี้คืออนาคต ของประเทศชาติ ดังนั้นการดูแลรักษา พัฒนาสมอง รวมทั้งพัฒนาการของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง 

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันประสาทวิทยาได้อนุมัติพื้นที่ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติให้ปรับปรุงเป็นหน่วยงานกุมารประสาทวิทยา ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1. หอผู้ป่วยกุมารประสาทวิทยา ให้บริการผู้ป่วยจำนวน 10 เตียง โดยแยกเป็นผู้ป่วยระบบประสาทสามัญทั่วไป 8 เตียง และมีห้องตรวจประเมินโรคลมชักด้วยคลื่นไฟฟ้าสมองเด็กระยะยาว 1 เตียง ห้องแยกโรค 1 เตียง 2. คลินิกผู้ป่วยนอกกุมารประสาทวิทยา โดยมีห้องตรวจ ห้องให้คำปรึกษา ห้องหัตถการและสังเกตอาการ อีกทั้งมีพื้นที่นั่งรอตรวจที่สามารถรองรับ ผู้มารับบริการ40-50คน มีมุมหนังสือและกิจกรรม 3. ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเด็ก  และ 4. สำนักงานกลุ่มงานประสาทวิทยา ซึ่งมีห้องประชุมสำหรับการเรียนการสอน โดยได้ออกแบบทุกส่วนให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งทำให้สามารถให้บริการดูแลผู้ป่วยเด็กได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีในกรณีฉุกเฉิน  

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง