ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

​มสช. - สสส. - สช. เปิดวงถก! ยกเครื่อง ‘การพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ’ พบปัญหาตั้งแต่วัยเด็ก-สูงวัย เน้นบูรณาการพลังเครือข่าย - กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

วันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๕ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมจัดงานเสวนา “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ” ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากประเทศไทย ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประมาณ ๖๐ คน  



นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพช่องปากไม่ใช่แค่เรื่องบริการทันตกรรมเท่านั้น แต่มุ่งเน้นระบบปฐมภูมิ ซึ่งเป็นเป้าหมายของระบบสุขภาพที่มีความสำคัญ เพราะมีความใกล้ชิดกับปัญหาและประชาชน แต่ยังมีข้อจำกัดและโจทย์ท้าทายมาก ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ระบบสาธารณสุขไทยจะสามารถรับมือได้ดี แต่ยังมีช่องโหว่หรือจุดอ่อน ดังนั้น หากสามารถสร้างความเข้มแข็งทั้งการจัดการเชิงรุก-รับ มีระบบส่งต่อ ระบบวิชาการ จะทำให้ระบบสุขภาพไทยแข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นจังหวะก้าวของการถ่ายโอน รพ.สต. ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี และต้องได้รับการหนุนช่วยจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญต้องให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าของ


ทพญ.สุณี วงศ์คงคาเทพ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สถานการณ์ ช่องว่าง และระดมความคิดเห็น/ข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากที่พึงประสงค์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่น ประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากของไทย พบตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยสาเหตุสำคัญคือ (๑) การดูแลสุขภาพช่องปากไม่ถูกต้อง (๒) การดื่มนมที่มีส่วนผสมน้ำตาลของเด็ก (๓) ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันไม่เพียงพอ (๔) การสูบบุหรี่
​วงเสวนาเปิดฉากในหัวข้อ “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ” 

โดย 

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.กองสาธารณสุขท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ฉายภาพใหญ่ว่า การถ่ายโอนภารกิจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านจะได้มีแพทย์พยาบาลดูแล ร่วมกับพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยสิ่งที่ต้องการคือ (๑) ข้อมูล รพ.สต. ที่ส่งต่อโรงพยาบาลได้  (๒) การให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน ๑๖๖๙ กับ อบจ. และ (๓) การส่งเสริมสนับสนุน อปท. “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องเป็นไปแบบภาคีเครือข่าย และให้ความเป็นอิสระภายใต้กติกากำลังทรัพยากรบนผลประโยชน์ร่วมของประชาชนในพื้นที่ สิ่งสำคัญต้องทำให้เกิด Heath Literacy แล้ว Financial Literacy และ Digital Literacy จะตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปให้เกิดสุขภาวะ...สร้าง รพ.สต. รอบรู้ สู่สังคมรอบคอบ” 



ขณะที่ นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การส่วนจังหวัดภูเก็ต ยกกรณีตัวอย่างการขับเคลื่อน Phuket Health Sandbox โดยเน้นการจัดบริการให้ครอบคลุมด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับศักยภาพท้องถิ่น และมองว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะสามารถตอบโจทย์การสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ “ความท้าทายที่ต้องคิดร่วมกันคือ การดูแลตัวเองแบบองค์รวม (Self Care) และเป้าหมายการบริการทันต กรรมคืออะไร ทุกคนสามารถเข้าถึงการคัดกรองได้หรือไม่...ท้องถิ่นเล็กรับผิดชอบดูแลประชาชนในพื้นที่ ไม่เฉพาะเรื่องสุขภาพช่องปากอย่างเดียว ซึ่งเรื่องยากที่สุดของท้องถิ่นคือ ไม่ง่ายที่จะทำอย่างไรให้เขาทำ จึงต้องเข้าใจว่าท้องถิ่นมีกระบวนการทำงานอย่างไร เพื่อนำไปสู่การออกแบบพัฒนาและขับเคลื่อนงาน บวกกับเอกชนเป็นกำลังสำคัญ มีสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วย และภาครัฐให้การสนับสนุน”



ด้าน นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่มุ่งให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ข้อเสนอสำคัญคือ (๑) ต้องบูรณาการการดำเนินงานระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในประเด็นผู้สูงอายุ NCDs และสุขภาพจิต โดยให้หน่วยงานส่วนกลางจัดทำแนวทางดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินงานได้ (๒) พัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนให้มีแพทย์ปฏิบัติงานในระบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างยั่งยืน และ (๓) พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็ง เช่น การจัดทำธรรมนูญสุขภาพหรือกฎกติการ่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันคิดและสร้างขึ้นมา “ปัจจุบัน สธ. มีการปรับตัวการดำเนินงานให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจุบันและอนาคต จะวัดผลการดำเนินงานระบบปฐมภูมิอย่างไร ความสำเร็จในพื้นที่เป็นอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ...รวมไปถึงการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำก็ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย”  



พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นเวชศาสตร์ครอบครัวที่ถือเป็นศาสตร์และกระบวนการหนึ่งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ บนฐานการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและครอบครัว การไม่ซ้ำซ้อน และมีความเชื่อมโยงแต่ละระดับ ซึ่งการออกแบบระบบบริการมีหลายมิติที่ต้องคำนึงถึงและเชื่อมโยงกัน ไม่เฉพาะด้านเทคนิคบริการทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว เช่น หมอครอบครัว จิตวิทยา การทำงานกับชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การบริหารจัดการ ระบบข้อมูลข่าวสาร การเชื่อมโยง ฯลฯ “อย่าติดกับดักกรอบเดิมๆ หลายๆ อย่าง ต้องก้าวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องมองแบบเป็นกลาง พยายามให้บริการปฐมภูมิที่เป็นอิสระและเชื่อมโยงได้ รวมถึงการประเมินผลและติดตามที่ยังเป็นจุดอ่อน ส่วนด้านกำลังคน อาจต้องมีวิธีบริหารบุคลากรสาธารณสุขแบบใหม่ที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น”

อนึ่ง การจัดเวทีเสวนาการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ พ.ย. ๒๕๖๕ โดยคณะทำงานจะนำข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปสรุปและวิเคราะห์ผล เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนงานต่อไป
 

 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141

เรื่องที่เกี่ยวข้อง