ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภา เผย "การจัดฟันแบบใส" หรือ Clear Aligner “ มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ทันตแพทย์ต้องเป็นผู้ดูแลให้การรักษาตลอดทั้งกระบวนการ จึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์การรักษาที่ดี ประชาชนที่ไปรับบริการจัดฟันใส ควรจะศึกษาข้อมูล ข้อดี ข้อจำกัดของอุปกรณ์จัดฟันใส โดยที่ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลจากทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาในเรื่องแผนการรักษาอย่างละเอียด

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ทันตแพทยสภา จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “Clear Aligner ถูกวิชาการ ถูกกฎหมาย และถูกใจผู้บริโภค ต้องทำอย่างไร”  โดยมี ผศ.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา เป็นประธาน และมีตัวแทนผู้ประกอบการจำหน่าย ผลิตเครื่องมือจัดฟันใส จำนวน 18 แห่ง และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วม ที่อาคารทันตแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปแนวทางการรักษาด้วยอุปกรณ์จัดฟันใส 5 ข้อ ได้แก่ 

1. การจัดฟันใส เป็นการรักษาทางทันตกรรมที่ต้องมีทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมให้การดูแลตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การสแกนฟัน การให้ข้อมูลแผนการรักษาและข้อจำกัดภาวะแทรกซ้อนของการรักษาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ทันตแพทย์จะต้องติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ จนสิ้นสุดการรักษา รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการรักษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการทางทันตกรรม

2. การสแกนฟันในช่องปาก ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม จะต้องดำเนินการโดยทันตแพทย์และทำในสถานพยาบาล คลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สธ.เท่านั้น” 

3. ปัจจุบันการผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์จัดฟันใสซึ่งจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องดำเนินการจดทะเบียนสถานที่ผลิตหรือนำเข้า และต้องจดแจ้งหรือแจ้งรายการละเอียดผลิตภัณฑ์จัดฟันใสก่อนการผลิตหรือนำเข้า ส่วนในการโฆษณาหรือการขายในช่องทางออนไลน์ต้องได้รับใบอนุญาตโฆษณาก่อน ทั้งนี้ บริษัทต้องระมัดระวังในการทำโฆษณาผลิตภัณฑ์จัดฟันใสให้เป็นไปตามระเบียบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ของ อย.อย่างเคร่งครัด

4. ทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ต้องพึงระมัดระวังในการโฆษณาจัดฟันใสให้เป็นไปตามข้อบังคับจรรยาบรรณการโฆษณาของทันตแพทยสภา และข้อปฏิบัติการโฆษณาสถานพยาบาลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

5. ประชาชนที่ไปรับบริการจัดฟันใส ควรจะศึกษาข้อมูล ข้อดี ข้อจำกัดของอุปกรณ์จัดฟันใส โดยที่ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลจากทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาในเรื่องแผนการรักษา ข้อจำกัดของการเคลื่อนฟัน ผลดี ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงระยะเวลาการรักษา และค่าใช้จ่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจที่จะรับการรักษา

********จากประเด็นเรื่องนี้ ผศ.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า การจัดฟัน คือ กระบวนการรักษาให้ฟันที่อยู่ในตำแหน่งไม่ถูกต้อง หรือการเรียงตัวของฟันที่สบกันผิดปกติและเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เช่น ฟันซ้อนเก ฟันห่าง มีช่องว่างระหว่างฟัน ให้ฟันกลับมาเรียงตัวสวยงาม การสบฟันดี ทำให้เคี้ยวอาหารได้ดี  

ซึ่งการจัดฟันมี 2 แบบ คือ

1. การจัดฟันแบบติดแน่น หรือ ที่เรียกว่า Bracket ไม่สามารถถอดออกมาได้ เป็นการติดเครื่องมือจัดฟันบนตัวฟัน และปรับการเรียงตัวของฟันโดยใช้ลวดยึดกับเครื่องมือจัดฟัน  ส่วนยางหรือ Oring ที่ใช้รัดลวดจัดฟันให้ติดกับ Bracket ทำหน้าที่ในการดึงฟันช่วยในการเคลื่อนฟันให้ไปยังตำแหน่งที่ทันตแพทย์จัดฟันต้องการ 

ส่วนข้อเสียของการจัดฟันแบบติดแน่นปัญหา คือ ทันตแพทย์เองจะเจอคนไข้ที่ฟันผุเยอะ รวมถึงฟันเปลี่ยนสีด้วย นอกจากนี้ ยังมีความต่างในเรื่องราคาซึ่งการจัดฟันแบบใสถือว่ามีราคาที่สูงมากขณะที่ “การจัดฟันแบบติดแน่น” จะราคาถูกกว่าเยอะ จึงทำให้ไม่ค่อยมีประชาชนสนใจจัดฟันแบบใสมากนัก

2. การจัดฟันแบบใส หรือ Clear Aligner คือ เป็นการจัดฟันแบบถอดได้ ที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้  Clear Aligner เป็นวัสดุแบบพลาสติกใส จุดเด่นคือ สามารถเคลื่อนฟันได้และมีความสวยงามไปในตัว  แต่การใช้งานก็มีความยากและฟันอาจไม่เคลื่อนตามแผนหรือเคลื่อนผิดทางได้ 
สำหรับข้อดีของการจัดฟันแบบใส คือ คนไข้สามารถถอดมาทำความสะอาดและแปรงฟันตนเองให้สะอาดได้ ซึ่งต่างจากแบบติดแน่นที่ไม่สามารถถอดทำความสะอาดได้ ทำให้มีเศษอาหารติดฟันและทำความสะอาดฟันได้ยากกว่า และที่สำคัญโอกาสเกิดฟันผุก็จะน้อยกว่า 

แต่ข้อเสีย คือ คนไข้อาจมีการหลงลืมบ้างเนื่องจากสามารถถอดได้ และไม่ใส่ใจในการใส่มากพอสมควรหรือใส่ไม่เข้าที่  ฟันจะไม่เคลื่อนตามแผนหรืออาจทำให้ฟันเคลื่อนที่ผิดทิศทางได้ ซึ่งมองว่าการจัดฟันใสไม่ได้ง่ายเลยเพราะเราต้องควบคุมทั้งเครื่องมือและคนไข้ด้วย  

สำหรับกรณีที่มีการจัดฟันใสโดยไม่มีทันตแพทย์ให้การดูแลรักษานั้น อยากให้ประชาชนที่พบเห็นช่วยแจ้งเบาะแสกับทางทันตแพทยสภาได้เลย ที่ผ่านมามีกรณีการทำฟัน การใส่ฟันเทียม ที่ทำโดยบุคคลที่ไม่ใช่ทันตแพทย์อยู่บ้าง ซึ่งทันตแพทยสภาได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการล่อซื้อและดำเนินการตามกฎหมาย 

นอกจากนี้ ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดฟันใสโดยไม่มีทันตแพทย์ดูแลนั้น เมื่อรักษาและเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วฟันอาจจะยังซ้อนเกอยู่ จัดฟันไม่สำเร็จ รวมทั้งก่อให้เกิดอันตรายในช่องปากได้ เพราะการจัดฟันใสไม่ใช่การใส่อุปกรณ์จัดฟันใสเข้าในช่องปาก แต่เป็นกระบวนการรักษาตั้งแต่ตรวจ วินิจฉัย เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งทันตแพทย์ต้องเป็นผู้ดูแลให้การรักษาตลอดทั้งกระบวนการ จึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์การรักษาที่ดี

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง