ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ป่วยมะเร็งในอัตราสูง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ ทำให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้แสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อลดอัตราการป่วย การเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย ตลอดจนลดการเสียชีวิตของคนไทยให้ได้มากที่สุด

โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินความร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งแห่งชาติ  (National Cancer Center Hospital (NCCH)) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคมะเร็งระดับโลกภายใต้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ญี่ปุ่น (National Cancer Institute, Japan) เพื่อดำเนิน 2 โครงการวิจัยด้านมะเร็งในประเทศไทย ได้แก่ Asian Cancer Trials Network (ATLAS) ที่เป็นโครงการพัฒนายา และเวชศาสตร์จีโนม (Genomic Medicine) ซึ่งเป็นการแพทย์ที่อาศัยเทคโนโลยีพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล เพื่อวินิจฉัยและพยากรณ์โรค และ โครงการ Decentralized Clinical Trials (DCT) ซึ่งศึกษาวิจัยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การรักษาผู้ป่วยผ่านระบบทางไกลจากญี่ปุ่น และมีแพทย์ในประเทศไทยร่วมควบคุมกระบวนการรักษา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบัน NCCH ได้ดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันนี้เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลการวิจัยในหลายประเทศในเอเชีย อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน แต่ NCCH ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการดำเนินการวิจัย และประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยารักษามะเร็งที่ได้จากการวิจัย เพื่อกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบัน NCCH ได้ตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อขับเคลื่อนทั้ง 2 โครงการที่กรุงเทพฯ แล้ว และเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ NCCH ได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทยสภา องค์การอาหารและยา(อย.) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมโครงการ และได้มีการนำประเด็นความคืบหน้าต่างๆ ที่ได้มีการหารือระดับเจ้าหน้าที่เพื่อนำมาหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอรับการสนับสนุนจากระดับนโยบาย ในช่วงที่นายอนุทินได้นำคณะเพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

โดยรองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบประเด็นที่ NCCH ขอให้ช่วยเหลือผลักดัน และยืนยันว่าฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะโครงการนี้เป็นโอกาสที่จะพัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเวชศาสตร์จีโนม และเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยที่จะเข้าถึงยาและการรักษาที่ทันสมัยมากขึ้น  ขณะที่แพทย์ไทยก็รับองค์ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับการจัดการการรักษามะเร็ง และสถาบันเฉพาะทางในไทยก็จะสามารถดึงดูดผู้ป่วยในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการการรักษามะเร็งเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยได้

ในการนี้ นายอนุทิน และนพ.โอภาส ได้เห็นร่วมกันและมอบหมายให้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งดูแลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยและ NCCH ต่อไป  พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำขอให้ NCCH ให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยชาวไทย ตลอดจนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม