ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อบต.แว้ง จ.นราธิวาส นำเครือข่ายตำบลสุขภาวะภาคใต้ ประกาศความมุ่งมั่นสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุข 5 ด้าน“สวัสดิการสังคม-เศรษฐกิจชุมชน-สุขภาวะ 13กลุ่มประชากร-เรียนรู้ตลอดชีวิต-จิตอาสา”สู่นโยบายสาธารณะในพื้นที่ ด้านสสส. พร้อมหนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งจัดการชุมชนสู่ตำบลสุขภาวะที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งกัน

องค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญการสร้างโอกาสทางสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง จัดเวที   “สานพลังสู่การพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ที่ยั่งยืน ร่วมสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุข” พร้อมพิธีมอบเกียรติบัตรสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น “คนดี คนสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุข” และประกาศความมุ่งมั่นการขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ร่วมสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุข โดยมี      องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 300 คน 17 อปท.

นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3  และประธานกรรมการกำกับทิศทางฯ พื้นที่ภาคใต้ กล่าวถึงยุทธศาสตร์เพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสทางสังคมอย่างยั่งยืนว่า แผนสุขภาวะชุมชน สสส. ใช้ยุทธศาสตร์ S-2I เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ทั้งการจัดการพื้นที่ ที่มีคน กลไก ข้อมูล เป็นหัวใจสำคัญ การสร้างและพัฒนานวัตกรรมชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา และบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่นและร่วมมือกับหน่วยงานสนับสนุนจากภายนอก เน้นพัฒนาทักษะคนทำงาน ซึ่งการทำงานของศูนย์เชี่ยวชาญการสร้างโอกาสทางสังคม อบต.แว้ง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาพื้นฐาน 10 ประเด็น จนนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในพื้นที่

​“สสส.ชวนท้องถิ่นเข้ามาทำงานเพื่อให้รู้จักปัญหาอย่างถ่องแท้โดยใช้เครื่องมือข้อมูลตำบล (TCNAP) และวิจัยชุมชน (RECAP) ทำให้สามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และหาแนวทางแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ปัจจัยความสำเร็จของ อบต.แว้งและอปท.ในเครือข่าย คือการทำงานแบบพึ่งตนเองและมีส่วนร่วม พัฒนาอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ภูมิสังคม ที่สำคัญคือ ได้ลงมือทำจริงให้เกิดผลสำเร็จ และมีการพัฒนาต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้นขอฝากไปยังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทุกคน ให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุด ปัญหามีไว้แก้ไข ถึงแม้จะปิดโครงการกับสสส. แล้ว แต่ยังเป็นเพื่อนที่ไม่ทิ้งกัน และหากคิดอะไรไม่ออกให้บอก สสส.” นายณัฐพงศ์ กล่าว

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" "ระเบิดจากข้างใน" "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มากำหนดทิศทางการพัฒนา วิธีการและขั้นตอน ออกแบบกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น มีเป้าหมายในการพัฒนาคน ทำงานอย่างมีส่วนร่วม คำนึงถึงบริบทของพื้นที่ พัฒนาบนฐานข้อมูลความรู้ สร้างกลไกรองรับ บูรณาการเข้าสู่งานประจำเพื่อความสุขของครอบครัว ชมชน และสังคม อย่างยั่งยืน กลายเป็นวิถีชุมชนอันสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

​ด้าน นางสาวจุฑามณี หามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง และตัวแทนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ 12 อปท.ในเขต อำเภอแว้ง อำเภอสุคีริน อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ขอประกาศความมุ่งมั่นตามแนวทางของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์น้อมนำศาสตร์พระราชา ได้แก่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” บูรณาการทำงานร่วมกับ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ และองค์กรศาสนา รวมทั้งภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสทางสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุข โดยใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชน รู้จักคิด วิเคราะห์ ใช้เหตุใช้ผล ประกาศความมุ่งมั่นทั้งหมด 5 ข้อ คือ            

1. ร่วมสร้างโอกาสการจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน อาทิ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จัดระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ 
2. ร่วมสร้างโอกาสการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน อาทิ สร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร 
3. ร่วมสร้างโอกาสส่งเสริมการดูแล 13 กลุ่มประชากร โดยเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ สร้างบุคคลต้นแบบครอบครัว และหน่วยงานปลอดควันบุหรี่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชน ให้ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ 
4. ร่วมสร้างโอกาสการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยส่งเสริมโภชนาการและพัฒนาการเด็กปฐมวัย พัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนด้วยกีฬาและการเรียนรู้ที่หลากหลาย
5. ร่วมสร้างโอกาสการสร้างจิตอาสา โดยส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เยาวชนอาสาทำดีจัดการขยะ ทั้งหมดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน นำไปสู่ต้นแบบการจัดการชุมชนสู่ตำบลสุขภาวะที่ยั่งยืน .-