ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่เยี่ยมชม รพ.สต.บ้านชำป่างามและกปท.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ทำโครงการ “ทศวรรษการป้องกันและชะลอภาวะไตเรื้อรัง : ชะลอไตเสื่อม”ด้วยกองทุนสุขภาพตำบล ช่วยลดค่าการทำงานไตของผู้ป่วยถึงร้อยละ 10.84  ด้าน รองเลขาธิการสปสช. ระบุ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. เป็นต้นไป อปท.-ท้องถิ่น สามารถเสนอโครงการของบกองทุนตำบล สนับสนุนดูแลผู้ป่วยไตวายได้

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา รองเลขาธิการสปสช. พร้อมด้วย นพ.สุรทิน  มาลีหวล ผอ.สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่ รพ.สต.บ้านชำป่างามและกปท.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ “ กปท.ท่ากระดาน และรพ.สต.บ้านชำป่างาม เชิงรุก ลดความเสี่ยงชะลอไตเสื่อม : โครงการส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง” ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นท่ากระดาน และ รพ.สต.บ้านชำป่างาม รพ.สนามชัยเขต  อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา   โดยมี นายสมศักดิ์ รักษาทรัพย์ ผอ.รพ.สต.บ้านชำป่างาม นพ.สมคิด วิระเทพสุภรณ์  อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามชัยเขต และเป็นแพทย์ประจำรพ.สต.บ้านชำป่างาม ให้การต้อรับและให้ข้อมูล

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ และมอบหมายให้สปสช.ดำเนินการสนับสนุนมาตรการนี้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการใช้งบประมาณกองทุน กปท. ที่ยังไม่มีแผนการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยจัดทำโครงการที่ชัดเจนและเริ่มดำเนินการภายใน พ.ค. 2565 พร้อมประสานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในการขับเคลื่อนนโยบาย

“ สปสช.จะเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการใช้งบประมาณ กปท. เพื่อจัดทำโครงการค้นหาและชะลอผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ทันที โดยปัจจุบัน กปท. มีเงินงบประมาณคงเหลือและยังไม่มีแผนใช้เงินอยู่ประมาณ 2,315 ล้านบาท หลังจากนี้จะขอความร่วมมือ สธ. และ มท. ในการชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่อไป โดยจะเริ่มเปิดให้เสนอโครงการขอรับงบประมาณได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.อภิชาติ กล่าวต่อว่า กลไกและกิจกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อมตามมาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ รับทราบนโยบายทศวรรษมาตรการชะลอไตเสื่อม เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ และสนับสนุนการขับเคลื่อนในพื้นที่    2. สธ.ขับเคลื่อนนโยบายให้หน่วยบริการทุกระดับจัดบริการคลินิกโรคไตแบบบูรณาการในชุมชน โดยทีมสหวิชาชีพ 3.โรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. ท้องถิ่น และองค์กรเอกชน สามารถเสนอโครงการเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปท. ได้

ด้านนายสมศักดิ์ รักษาทรัพย์ ผอ.รพ.สต.บ้านชำป่างาม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยใช้งบประมาณจาก กปท. หรือกองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับ สปสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ โดยปัจจุบัน รพ.สต.บ้านชำป่างาม ขึ้นอยู่กับอบต.ท่ากระดาน และกปท.ท่ากระดาน มีผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายที่มีโรคเบาหวานและความดันโลหิตควบคู่ด้วยจำนวนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องได้รับการ “ชะลอความเสื่อมของไต”  เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะผู้สูงอายุที่เป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าทานยาไม่ต่อเนื่องหรือบิโภคอาหารที่มีโซเดียมมักจะทำให้เกิดโรคไตเพิ่มตามมาได้

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวน 303  ราย ที่รักษาอยู่ที่คลินิกโรคเรื้อรัง รพ.สต.บ้านชำป่างาม ที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมสุขภาพเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยกลุ่มเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ใน 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. การดูแลตนเอง การลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะทางไต 2. การสาธิตการประกอบอาหารที่มีรสจืด ใส่เครื่องปรุงรสน้อยลง 3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ( อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

“ผลการจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูงที่ผ่านมา จากข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรังติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 – ปี 2565 พบว่า ปี 2564 ผู้ป่วยไตดีขึ้น 9 คน ผู้ป่วยมีแนวโน้มค่าการทำงานของไตลดลงถึง ร้อยละ 10.84 ซึ่งเป็นสันญาณที่ดี” 

ด้านนางบุญรักษ์  แซ่ลิ้ม  ปธ.อสม.หมู่ที่ 7 บ้านโป่งตาสา ตำบลท่ากระดาน อ. สนามชัยเขต จ..ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีโรคระบาดโควิด อสม.ได้มีการคัดกรองประชาชนที่เข้ามารับบริการใน รพ.สต.เป็นประจำอยู่แล้วซึ่งเป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นนอกจากนี้ยังช่วยตรวจวัดความดัน เบาหวาน รวมถึงหากมีงานเทศกาลต่างๆ งานแต่ง งานศพ เป็นต้น อสม.แต่ละหมู่บ้านก็ต้องทำหน้าที่คัดกรองเช่นเดียวกัน

สำหรับโครงการ "ชะลอไตเสื่อม" ที่องค์กรต่างๆให้ความร่วมมือที่ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยหน้าที่หลักๆ อสม.ได้เข้าไปให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การเลือกซื้อสินค้าบริโภค ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนคำนึงถึงโรคภัยที่ตามมาด้วย ในโครงการยังมีกิจกรรมการเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้ ในการดูแลสุขภาพ สามารถดูแลตนเองได้ ลดพฤติกรรมเสี่ยง รณรงค์สื่อสารด้านสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมีทั้งหมด 4-5 ราย (ผู้ป่วยหมู่ที่ 6) ที่มีการฟอกไตในทุกๆวัน และตอนนี้อาการผู้ป่วยดีขึ้นเรื่อยๆสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และญาติให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นอย่างดี เพราะญาติก็เป็น อสม. เช่นกัน

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน คณะลงพื้นที่เยี่ยม บ้านยายลำพัน พลูสวัสดิ์  อายุ 83 ปี พักอยู่ต.บ้านชำป่างาม เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน และโรคไตระยะเริ่มต้น โดยยายลำพัน กล่าวว่า ปกติตนชอบทำอาหารทานเอง เป็นเบาหวาน ความดัน ส่วนไตเริ่มเป็นเพราะเวลาทำอาหารจะใส่พวกรสดี ซึ่งหมอที่มาเยี่ยมบ้านจะแนะนำให้ทานอาหารที่มีรสจืด โดยปกติตนชอบทานหวานมากกว่าเค็มอยู่แล้ว แต่บางครั้งไม่รู้ว่าพวกรสดี มีส่วนผสมของเกลือร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันตนเริ่มทำอาหารที่มีรสจืด สิ่งที่ชอบคือมีเครื่องตรวจวัดค่าความเค็มในอาหาร ทำให้รู้ว่าอาหารที่ทำมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งทำให้มองเห็นถาพความน่ากลัวของจุดเริ่มต้นก่อให้เกิกโรคง่ายขึ้นอีกด้วย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง