ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่น้อยสำหรับมาตรการ “ปิดผับตี4”

มิติหนึ่งคือภาคการท่องเที่ยวมองว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อีกมิติเป็นมุมมองด้านสาธารณสุขและสังคมเชื่อว่าการขยายเวลาปิดจาก 02.00 น. เป็น 04.00 น. จะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย

ข้อเสนอการนำร่องแบบโซนนิ่งในพื้นที่ท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เมืองพัทยา และ 3 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร คือ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และซอยพัฒน์พงษ์ โดยนำร่องที่ถนนบางลา ภูเก็ต  คือแนวทางที่เหมาะสมจริงหรือ? การขยายเวลาปิดผับบาร์เสี่ยงเพิ่มอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่กับรายได้ที่เพิ่มขึ้น?

 

สร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“นักท่องเที่ยวที่มาป่าตองรู้ดีว่าพวกเขาต้องการมาเพื่ออะไร นอกจากชายหาดที่สวยงามแล้ว แสงสียามค่ำคืนก็เป็นจุดขายที่ได้รับความสนใจ สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี การขยายเวลาเปิดบริการอีก 2 ชั่วโมงทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน” นายวีรวิชญ์ เครือสมบัติ ประธานชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิงหาดป่าตอง กล่าวถึงผลดีในด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ ร้านรถเข็นข้างทาง ร้านค้าปลีกที่จะได้รับอานิสงค์เชื่อมกันเป็นลูกโซ่ไปด้วยกัน และเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

ล่าสุดภูเก็ตครองแชมป์จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดใน 10 เดือนแรกของปี 2565 ด้วยตัวเลข 127,927 ล้านบาท ทิ้งห่างอันดับ 2 ชลบุรี (13,283 ล้านบาท) ขาดลอย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวสถานบันเทิงในยามค่ำคืนที่กลับมาสร้างความคึกคักไม่น้อยหลังได้รับไฟเขียวให้เปิดบริการผับบาร์ถึงตี 2.00 น. ตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการสถานบันเทิงมองว่าช่วงเวลาปิดตี 2 ไม่สอดคล้องกับบริบทและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักผ่อนอยู่ชายหาดจนถึงเย็น ก่อนจะเริ่มเข้ามาใช้บริการสถานบันเทิงประมาณ 4-5 ทุ่ม เพราะฉะนั้นการมีเวลาเพียง 2-3 ชม.จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ที่สำคัญผลวิจัยก่อนหน้านี้ยังระบุว่า นักท่องเที่ยวสถานบันเทิงจะใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงเวลา 1.00-4.00 น.

เช่นเดียวกับนายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงาที่มองว่า การขยายเวลาแบบโซนนิ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ฟื้นฟูเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนก่อนหน้านี้ ส่วนความกังวลเรื่องอุบัติเหตุและความปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการวางมาตรการอย่างเข้มงวด

 

ขจัดปัญหาใต้โต๊ะ วางรูปแบบภาษีใหม่

แม้กฎหมายจะกำหนดให้สถานบันเทิงผับบาร์เปิดได้เพียง 2.00 น. แต่ต้องยอมรับว่ามีการเปิดเกินเวลากันถึงเช้าอยู่แล้วในบางแห่ง แต่ถ้ามีการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายจะลดปัญหาการจ่ายใต้โต๊ะและหลบเลี่ยงการตรวจสอบได้

“การเปิดให้นักท่องเที่ยวใช้บริการถึงตี 4 ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างเม็ดเงินให้เศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ความเป็นผับเล็ก ผับใหญ่ ใต้โต๊ะ วางรูปแบบภาษีใหม่ ใครอยากเปิดถึงตี 4 ก็มีภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม จัดโซนนิ่งให้เหมาะสม และไม่ปล่อยปละละเลยให้เยาวชนเข้าไปมั่วสุม ถ้าทำได้แบบนี้จะมีผลดีต่อเม็ดเงินในเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างภาษีให้ประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาเที่ยวพักผ่อนแบบสุดเหวี่ยงยามราตรี” อุดร ทวีเมือง ชาวภูเก็ต กล่าวถึงความเป็นจริง

เขาเชื่อว่าการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ก็ไม่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยด้อยค่าแต่อย่างใด เพราะนักท่องเที่ยวเลือกรูปแบบการมาพักผ่อนด้วยตัวเอง เลือกผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และทำให้โรงแรมหรือสถานที่พักก็เลือกว่าตัวเองอยากสร้างประสบการณ์การเข้าพักแบบให้ลูกค้าด้วย

 

เพิ่มโอกาสเมาแล้วขับ-อัตราสูญเสีย

แม้จะมีการจัดโซนนิ่งโดยเน้นพื้นที่ท่องเที่ยว แต่กฤษดา ฐานะภิญโญ ผู้ประกอบการแท็กซี่จังหวัดพังงา มองว่ายังกว้างไป และก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น เนื่องจากความไม่พร้อม ทั้งในส่วนของพื้นที่ คนทำงานด้านบริการและเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลมีน้อย

“ขนาดแค่เมาไม่ขับ นักท่องเที่ยวเดินข้ามถนนยังถูกรถชนบ่อย หากขยายเวลายิ่งเพิ่มโอกาสเมาแล้วขับและเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามมา ที่สำคัญหากเกิดเรื่องเสียหาย มีการก่ออาชญากรรมจะไม่คุ้มกับภาพลักษณ์ของประเทศที่จะเสียไป เพราะการจัดโซนยังกว้างไป สำหรับถนนบางลา ภูเก็ตอาจพอเข้าใจได้ แต่ในบางพื้นที่บริบทยังไม่เหมาะสม เช่น เขาหลักที่ยังเป็นเมืองเล็กๆ ปัญหาเรื่องแสงสว่าง ไฟถนนยังไม่ดีพอ มันจึงดูย้อนแย้งเมื่อพูดถึงความพร้อม” กฤษดา เผยจากประสบการณ์การบนท้องถนนในพื้นที่

ข้อมูลจาก ThaiRSC ยังพบว่าในปี 2565 (ข้อมูลถึงวันที่ 19 ธ.ค.) มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้ว 14,026 ราย บาดเจ็บสะสม 894,078 ราย สาเหตุหลักมาจากการขับเร็วและเมาสุรา โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นกลางคืนมากกว่ากลางวัน นั่นหมายความว่า การขยายเวลาให้บริการยิ่งเพิ่มการดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เช่นเดียวกับโอกาสเมาแล้วขับ

อาภรณ์ รุทรพันธ์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภูเก็ต มองว่าหากมีการขยายเวลาให้บริการควรมีมาตรการรองรับที่ดี ซึ่งไม่ใช่แค่การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพราะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ

อาชญากรรมเพิ่มขึ้น กระทบภาพลักษณ์

การศึกษาในนอร์เวย์พบว่าการขยายเวลาให้บริการของบาร์มีผลกระทบต่อการก่อเหตุวิวาท ความรุนแรงและอาชกรรม โดยการเพิ่มชั่วโมงขายแอลกอฮอล์ 1 ชม. ส่งผลให้มีปัญหาการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 16%

คนในวงการท่องเที่ยวซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม บอกว่า นอกจากต้นทุนที่จะต้องแบบรับกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และการขาดสติ อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศที่ไม่คุ้มค่า หากเกิดการก่ออาชญากรรมกับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักเดินทาง

“ประเทศไทยซึ่งรู้กันอยู่ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร และบางครั้งก็หละหลวมเกินไป ย่อมเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นได้ อีกทั้งบ่อยครั้งที่มักจะขาดมาตรการรองรับที่ดีพอในการประกาศใช้กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ”

ไม่เพียงแค่ปัญหาอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยว แต่ผู้คัดค้านหลายคนมองว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อพฤติกรรมความรุนแรง  และอาจมีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชน นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวและการก่ออาชญากรรมทั่วไป

สุดท้ายแล้วอันตรายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้น และมีต้นทุนทางอารมณ์น่าจะมากกว่าทางการเงิน