ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รำลึก 15 ปี “นพ. สงวน” จัดเวทีเสวนา 5 พรรคการเมืองกับ "นโยบายบำนาญแห่งชาติ" อนาคตควรจะเป็นอย่างไร? 5 พรรคการเมืองเสนอนโยบายบำนาญแห่งชาติ ดังนี้ เพื่อไทยต้องการเพิ่มคุณภาพชีวิต ประชาธิปัตย์ต้องทำการออมภาคบังคับ ก้าวไกลทำการเปิดแผนหารายได้  ไทยสร้างไทยชี้ต้องเป็นสิทธิในรัฐธรรมนูญ ภูมิใจไทยหนุนสร้างรายได้ถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ณ ห้องสุวิทย์ศักดานนท์ โรงแรม ที เค พาเลซ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดงานรำลึก 15 ปี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท  ซึ่งในงาน มีการจัดเวทีเสวนาประเด็น "นโยบายบำนาญแห่งชาติ" โดยพรรคการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคภูมิใจไทย ร่วมเสวนาด้วย

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลไทยรักไทย ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และปัจจุบันอัตราการเกิดของประชาชนคนไทยเริ่มลดน้อยลง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลรวมถึงอายุของพวกเราเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆที่เจริญแล้ว พบ สหรัฐอเมริกาใช้เวลา 72 ปี อังกฤษใช้เวลา 46 ปี ญี่ปุ่น 24 ปี ส่วนประเทศไทย 17 ปี  เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาคงไม่ได้ดูแค่บำนาญอย่างเดียว เหมือนเช่นบางคนที่เสนอเรื่องบำนาญคนละ 3,000 บาท เพราะหากทำแบบนั้นคงไม่ต้องทำอย่างอื่น เอาเงินใช้จ่ายแก่คนชราทั้งหลาย แต่ความท้าทายคือจะมีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำอย่างไรถึงจะอยู่อย่างมีความสุข

นพ.พรหมินทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามว่าสวัสดิการนั้นทำไมต้องให้สวัสดิการผู้สูงอายุ เหตุผลเพราะว่า รายได้ที่เกิดขึ้นไม่พอให้เขาดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีใช่หรือไม่ รัฐจึงมีหน้าที่นำเงินส่วนเกินมาเจียดจ่ายให้คนที่ยังขาดอยู่ นั่นคือหน้าที่ของรัฐ แต่ต้นเหตุการให้สวัสดิการคือ คนสูงวัยรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีเงินเก็บ พูดง่าย ๆ คือแก่ก่อนรวย ดังนั้นทำอย่างไรจึงทำให้รายได้เขาเพียงพอ โดยเฉพาะคนสูงวัยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร รัฐจึงต้องมีนโยบายสนับสนุนทางเกษตร การจ้างงาน รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น มาสนับสนุนในส่วนนี้

สำหรับเรื่องบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค เราจะปรับและเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงผู้สูงอายุด้วย ทำให้พวกเขามีความสุข การเพิ่มรายได้ การเพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นการแก้ปัญหา ลดภาระ โดยพรรคเพื่อไทยเคยคิดนโยบายเมื่อปีที่ผ่านมา ว่าคนไทยชอบซื้อหวย เราจึงคิดเรื่องหวยบำเหน็จ แทนที่จะเล่นหวยแล้วเงินหายไป เปลี่ยนเป็นนำเงินที่ซื้อไปฝากไว้ ลักษณะเหมือนกันกับสลากออมสิน แต่จ่ายทุกงวด เก็บให้เขา จนอายุ 60 ปีจ่ายคืนมา ทำให้มีเงินเหลือเก็บ เป็นต้น 

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมวัยชรา ซึ่งไม่เหมือนประเทศอื่นในโลก อย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ยุโรป ที่เข้าสู่สังคมวัยชราโดยที่รวยแล้ว แต่ของเราเข้าสู่สังคมนี้ทั้งที่ประเทศยังจนอยู่ ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ จริงๆสมัยตนเป็น รมช.คลัง เคยเสนอนโยบายเรื่องการออมเพื่อคนชรา เป็นการบังคับการออม เพื่อให้คนไทยมีใช้เมื่อชรา แต่ปรากฎว่าล้มเหลวเพราะรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาไม่ทำ เชื่อว่าถ้าระบบดังกล่าวเกิดขึ้น เราคงดีกว่านี้อีกเยอะ คงไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น

เมื่อปี 2565 พรรคประชาธิปัตย์เสนอกฎหมายเข้าสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการนำเงินออมในกองทุน กบข.มาซื้อบ้านได้ เพราะถือว่าบ้านเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่การใช้จ่ายแล้วหมดไป แต่ถูกวุฒิสภาตีตก เพราะถูกล็อบบี้มา ส่วนวิปรัฐบาลก็ไปเห็นดีเห็นงามด้วย อย่างไรก็ดีพรรค ปชป.ยังมีข้อเสนอเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่พนักงานต่าง ๆ ออมเงินไว้ ควรเปิดโอกาสให้เขานำเงินตรงนี้ไปซื้อบ้าน หรือสินทรัพย์ไว้ได้เช่นกัน เรื่องเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์ จะทำ เพื่อให้เกิดการออมภาคบังคับขึ้นมา

"ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีเพิ่มไปอีก เชื่อว่าหลายคนยังสามารถทำงานได้ เพราะบางคนยังไม่มีเงินออมเลี้ยงดูตัวเองได้ รวมถึงการจัดระบบให้คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป นำความรู้ความสามารถมาใช้ประโยชน์ในสังคมมากขึ้น"

ทุกวันนี้ระบบประกันสุขภาพของเรานั้น แยกแยะหลายระบบไม่ว่าจะเป็น ระบบข้าราชการ ระบบพัฒนาสังคม หรือบัตรทอง เป็นต้น แต่ละระบบมีมาตรฐานแตกต่างกัน ทำอย่างไรที่จะนำสิ่งเรานี้มาจูนอัพกัน ให้มาตรฐานใกล้เคียงหรือเหมือนกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ไม่เหลื่อมล้ำกัน นอกจากนี้ระบบประกันสุขภาพของเราทุกวันนี้มุ่งแต่การรักษาพยาบาลเท่านั้นแต่การป้องกันเบิกไม่ได้ เช่น ข้าราชการอยากไปออกกำลังการเพื่อลดน้ำหนักแต่ขอเบิกไม่ได้ ฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะเปิดช่องให้คนเบิกเงินไปเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองได้ เป็นต้น 

สุดท้ายคือ เรื่องการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งถ้าเราตรวจพบเจอเร็วความเสียหายก็จะลดน้อยลง แต่เราต้องเปิดทางให้กับทุกคนที่เป็นคนไทยมีสิทธิ์ที่จะเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ นี่ถือเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะทำอยู่

ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเด็นบำนาญแห่งชาติ ทุกพรรคมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน เพราะนอกเหนือจากหลายระบบในการออมแล้ว เรายังต้องพูดถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงที่เข้าสู่ผู้สูงวัยแล้ว 2. ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นเราต้องแยกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก

ซึ่งกลุ่มที่มีความกังวลมากที่สุด คือกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ตัวเลขปัจจุบัน 60% ประมาณ 12 ล้านคน แต่มีการออม 1 ใน 3 เท่านั้น ส่วนคนที่เหลือไม่ได้มีการออม จะให้ออมตอนนี้คงช้าไป สิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดคือต้องเติมสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในทันที โดยเสนอให้อยู่ที่ 1% ของเส้นความยากจน คือ ตกเดือนละ 3,000 บาท ไม่นับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องดูแลระยะยาว ที่อาจตกเดือนละ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นต้องตั้งกองทุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ทราบว่า สปสช. ก็มีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่งบประมาณที่มีอาจไม่เพียงพอ

2. กลุ่มที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุ ต้องเติมเรื่องการออม เพราะตัวเลขจากการศึกษาพบว่า รายได้ผู้สูงอายุควรมีคือราว 5-6 พันบาทต่อเดือน เมื่อมีนโยบายให้เดือนละ 3 พันบาทแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือหารายได้มาช่วยในส่วนที่ขาดไปอีกราว 3 พันบาท โดยจะมีการทำการออมภาคบังคับ ซึ่งจะเป็นเสมือนที่ภาคประชาชนใช้คำว่า “ปิ่นโตสามชั้น” ชั้นแรกเป็นสวัสดิการที่ได้จากภาครัฐ ชั้นที่สองเป็นส่วนเติมที่ได้มาจากการออมแบบภาคบังคับ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอนโยบายการประกันสังคมแบบถ้วนหน้า คือทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากนั้นเข้าสู่การออมในลักษณะภาคบังคับเพิ่มมากขึ้นต่อไป เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 6.5 แสนล้านบาท ถามว่าเอาเงินจากไหน พรรคก้าวไกลศึกษาแล้วจะดำเนินการปรับลดงบประมาณไม่จำเป็น เช่น ลดขนาดกองทัพ ธุรกิจกองทัพ โครงการไม่จำเป็นต่าง ๆ ราว 5% จาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การเก็บภาษีอีก 10% และเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เช่น เก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า รวมทั้งหมดจะได้ราว 6.5 แสนล้านบาท ตามเป้าที่ตั้งไว้ 

"เราคิดว่าสำหรับในระยะเวลา 4 ปี ตัวเลขที่เราได้พูดถึงไป กองทุนสำหรับผู้สูงอายุระยะยาวก็เป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้ และสิ่งนั้นจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ทั้งรายได้มากขึ้นและไม่ต้องกังวลใจว่าเมื่อถึงคราวที่ต้องติดบ้านติดเตียงแล้วจะมีใครมาดูแลหรือไม่" ดร.เดชรัต กล่าว

ด้าน นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือเรื่องภราดรภาพแก่ผู้สูงอายุ การอยู่แบบเป็นพี่เป็นน้อง ประเด็นนี้ถูกระบุในรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นสิทธิที่ผู้สูงอายุควรได้ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่ประเด็นสำคัญคือพูดแค่เรื่องผู้สูงวัยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูทั้งระบบ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงวัย เราจะทำอย่างไร ดูแลอย่างไร ให้พ่อแม่วัยหนุ่มสาว อยากมีบุตร ให้คิดว่าการมีบุตรไม่ได้เป็นภาระ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าไม่ปรับปรุงทั้งวงจร จะเกิดผลประหลาด และไม่ได้อย่างที่คาดหวัง 

พรรคไทยสร้างไทย ศึกษาแล้ว จะนำเสนอนโยบายแบบดูทั้งวงจรตั้งแต่แรกเกิด จนถึงสูงวัย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา อาจปรับลดเพดานลงเหลือแค่ 18 ปีจบปริญญาตรี อย่างน้อยเราลดเวลาเรียนได้ถึง 2 ปี เพื่อเพิ่มคนเข้าสู่กำลังการผลิต ทำให้คนเข้าสู่วัยทำงานได้เร็วขึ้น และส่งผลให้เขามีรายได้มากขึ้นด้วย ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กู้เงินเรียนจนจบปริญญาตรี จบมาเพื่อตกงานและใช้หนี้ พ่อแม่ก็ไม่มีเงิน ทำให้ทุกคนเครียด มีแต่เรื่องหนี้รอบตัว ทำให้เป็นเหยื่อหนี้นอกระบบ เหยื่อการพนัน เหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งหลาย เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องแก้ให้ครบทั้งวงจร 

นอกจากนี้การเพิ่มรายได้ต้องคำนวณว่า รายได้เท่าไหร่ถึงพอต่อการเลี้ยงชีพ ไม่ใช่ประกาศตัวเลขออกมา เพราะอีกหลายปีข้างหน้าอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้เสนอให้มีการพักใช้กฎหมายเกี่ยวกับการอนุมัติ หรืออนุญาตเรื่องต่าง ๆ แขวนไว้ก่อน ให้คนทำมาหากิน ส่วน SME ให้มีการรวมกลุ่มกัน เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยง่าย

นายโภคิน กล่าวว่า พรรคพรรคไทยสร้างไทยพูดถึงคนแก่ที่ไม่มีเงินออม แต่ประเด็นตอนนี้คือต้องดูแลคนที่รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพก่อน เพราะถือว่าเป็นสิทธิในรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้สูงวัยที่รายได้เพียงพออยู่แล้วให้ตัดไป และต้องมีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ต่าง ๆ การจัดเก็บภาษีเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเรื่องเหล่านี้ สรุปคือ เรื่องบำนาญทำได้ 100% แต่ต้องทำให้ครบวงจร ตั้งแต่ในครรภ์ถึงผู้สูงวัย เพราะทุกคนมีกำลังการผลิต ทำให้เสมอภาคทุกคน ประเทศนี้ต้องปฏิวัติระบบงบประมาณ ถ้ายังเป็นแบบนี้ไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ประชาชน จังหวัดใครจังหวัดมัน ใครมีอิทธิพลก็ไปลงจังหวัดตัว แทนที่จะต้องลงทั้งประเทศ

ด้าน พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พบว่าในปี 2583 ประเทศไทยผู้สูงอายุจะเพิ่มถึง 20.2 ล้านคน หรือ  31.28% อนาคตคนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 79 ปี แนวโน้มอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียวมากขึ้น เด็กเกิดน้อยลง ประชากรที่ทำงานน้อยลง แต่ผู้สูงอายุมากขึ้น เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองตระหนักดีถึงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยและวัยที่แตกต่างกัน 

พรรค ภูมิใจไทยยังไม่มีนโยบายโดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้สูงอายุ หรือบำนาญ แต่พรรคสนับสนุนระบบบำนาญแห่งชาติ มากกว่านั้นยังสนับสนุนการสร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า เพื่อประชาชน ให้กับประชาชนทุนคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีเงื่อนไข ทำให้คุณค่าของคนทุกคนเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาได้เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 23 พ.ค. 2564 เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นด้วยในประเด็นต้องดูแลให้ครบวงจรตั้งแต่ในครรภ์ถึงสูงวัย และพรรคภูมิใจไทยเล็งเห็นความสำคัญเรื่องเด็กแรกเกิด ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เสนอให้รัฐบาลจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พร้อมกับตั้งคณะทำงานสนับสนุน ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด

สำหรับเรื่องการจัดทำระบบบำนาญ เห็นด้วยว่าต้องเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์อย่างเช่นปัจจุบัน ได้เดือนละ 600 บาท/เดือน เฉลี่ยวันละ 20 บาท เป็นอย่างนี้มานาน ยังไงก็ไม่พอ แม้ว่าจะเพิ่ม 100-200 บาทตามอายุก็ตามซึ่งทำไม่ได้ระยะยาว ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจะเล็งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะหากทำนโยบายเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่หากบรรจุในรัฐธรรมนูญ ทุกพรรคที่มาเป็นรัฐบาลจะต้องดำเนินการ

"สุดท้ายนี้ พรรคภูมิใจไทยจะมีการรวมความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน ฯลฯ ว่าเราจะหารูปแบบยังไงที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดและเติมเต็มให้สมบูรณ์ก่อนที่เราจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในอนาคต เรามั่นใจว่าเข้าไปในสมัยหน้าเราน่าจะได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกเราได้มากน้อยแค่ไหน" พญ.เพชรดาว กล่าว