ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาผู้บริโภค-มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเวทีสรุปบทเรียน “โครงการพัฒนาศักยภาพสมาชิกองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะบำนาญแห่งชาติ” ชวน ปชช.แสดงความเห็นต่อ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ 

เมื่อวันที่ 25 – 26 มกราคม 2567 สภาผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จัดกิจกรรมเวทีสรุปบทเรียน “โครงการพัฒนาศักยภาพสมาชิกองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะบำนาญแห่งชาติ” เพื่อถอดบทเรียนของคนทำงานในพื้นที่เกี่ยวกับการทำงานและขับเคลื่อนเรื่องบำนาญแห่งชาติ วิเคราะห์นโยบายการจัดระบบบำนาญแห่งชาติของพรรคการเมืองและรัฐบาล รวมทั้งหารือความเป็นไปได้ในการนำไปใช้สื่อสารต่อในพื้นที่หลังจบโครงการ โดยมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค 4 ภูมิภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาผู้บริโภค เข้าร่วมกิจกรรมด้วย 

ศิริพร ระวีกูล เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ นำเสนอการวิเคราะห์นโยบายการจัดระบบบำนาญแห่งชาติของพรรคการเมืองและรัฐบาล โดยให้ข้อมูลว่า แม้ว่าประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2585 หรืออีก 19 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันผู้สูงอายุในประเทศไทยเผชิญปัญหา “แก่ก่อนรวย” ข้อมูลจากรายงานผู้สูงอายุปี 2565 ระบุว่า มีผู้สูงอายุที่มีเงินออมมีจำนวนเพียงร้อยละ 54.3 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด และในกลุ่มผู้สูงอายุเฉพาะที่มีเงินออม มีจำนวนมากถึงร้อยละ 41.4 ที่มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท ขณะที่ผู้ที่มีเงินออมตั้งแต่ 400,000 บาทขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้น

ผู้สูงอายุต้องมีเงินเก็บประมาณ 3 ล้านบาท! ใช้ชีวิตไม่ลำบากถึงอายุ 90 ปี

ขณะที่ข้อมูลจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าผู้สูงอายุต้องมีเงินเก็บประมาณ 3 ล้านบาทจึงจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่ลำบากจนถึงอายุ 90 ปี สอดคล้องกับการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ระบุว่าผู้สูงอายุต้องมีเงินออมขั้นต่ำ 3.1 ล้านบาทเพื่อการยังชีพยามเกษียณ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการมีบำนาญแห่งชาติเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ

สำหรับเรื่องนโยบายของฝั่งการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการผู้สูงอายุ ศิริพร ระบุว่าในภาพรวมพรรคการเมืองตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น สังเกตได้จากเมื่อปี 2562 มีพรรคการเมืองที่หาเสียงด้วยนโยบายบำนาญแห่งชาติ จำนวน 8 พรรค ขณะที่ปี 2566 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 30 พรรค และในพรรคร่วมรัฐบาล 12 พรรค มีอย่างน้อย 5 พรรคการเมืองที่มีนโยบายหาเสียงในเรื่องนี้

ศิริพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลักดันเรื่องบำนาญแห่งชาติในทางการเมืองนั้นเป็นไปได้ยากด้วยเหตุผล 4 ประการ

1) การจัดสวัสดิการให้กับประชาชนตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปี 60 อยู่บนหลักการ “สงเคราะห์เฉพาะผู้ยากไร้”

2) พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่เพิ่มนโยบายสวัสดิการอื่น ๆ นอกจากบัตรทอง มุ่งเน้นเศรษฐกิจเติบโต

3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมาจากพรรคชาติไทยพัฒนาไม่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ

4) กระทรวงการคลังมีประเด็นเรื่องการหางบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยยังชีพ และเสนอให้จ่ายเฉพาะคนที่เดือดร้อนยากไร้เท่านั้น

ภาคประชาชน เรียกร้องรับนโยบาย "บำนาญแห่งชาติ"

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) กล่าวถึงสถานการณ์การขับเคลื่อนเรื่องบำนาญแห่งชาติว่า ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. .... ถูกเสนอถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีประชาชนที่ร่วมลงรายมือชื่อจำนวน 42,445 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย และนายกรัฐมนตรีรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไปพิจารณาแล้ว เหลือเพียงสื่อสารสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลให้เข้าใจและช่วยรับรองว่าเป็นร่างการเงิน หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมคนจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้ควรเป็นรัฐสภา ทั้งนี้ สิ่งที่กลุ่มขับเคลื่อนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติทำในปัจจุบัน คือการสื่อสารกับทุกพรรคการเมือง เพื่อให้เห็นว่าเป็นภารกิจของฝ่ายการเมืองที่จะต้องสันบสนุนนโยบายดังกล่าว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

“อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือเจตจำนงของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับบำนาญแห่งชาติ จึงอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นการลงทุนที่ไม่สำคัญพอ ถ้าทำให้รัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญที่รัฐจะลงทุนและใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกฎหมายนี้ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง” นิมิตร์ระบุ

เมื่อถามถึงสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนให้เกิดกฎหมายฉบับดังกล่าว นิมิตร์ กล่าวว่า ทุกคนสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้ด้วยการส่งเสียงและแสดงความเห็นเข้าไปในทุกช่องทางของรัฐบาล ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวอยู่ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคทุกคน ช่วยกันให้ความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภา รวมทั้งอาจสะท้อนความเห็นผ่านนักการเมืองในพื้นที่ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ามีประชาชนที่สนใจ และทำให้เกิดการขับเคลื่อนในฝั่งการเมืองอีกด้วย

ชี้ "สวัสดิการผู้สูงอายุ" ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้-หมุนเวียนเศรษฐกิจ

ส่วน สมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ระบุว่า การมีบำนาญแห่งชาติเป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีรายได้ลดลง แต่ในทางกลับกันตลอดระยะเวลาที่ทำงานหรือใช้ชีวิตจนถึงวัยเกษียณทุกคนต้องเสียภาษีทั้งทางตรงทางอ้อมมาตลอด จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐควรจะจัดสรรบํานาญเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ผ่านมามีเฉพาะเบี้ยยังชีพ เริ่มต้นตั้งแต่ 600 – 1,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดํารงชีพ และคนที่ได้บํานาญจริง ๆ มีเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ เช่น กลุ่มข้าราชการ หรือกลุ่มคนที่ใช้ประกันสังคม ซึ่งกลุ่มประกันสังคมก็ได้บำนาญต่อเดือนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอายุการทํางานและเงินเดือน ดังนั้น จึงมีความจําเป็นที่จะต้องมีบํานาญพื้นฐานรองรับให้กับผู้สูงวัย สอดคล้องกับงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวทยาลัย ที่ระบุว่าการมีให้สวัสดิการผู้สูงอายุ 3,000 บาทอย่างถ้วนหน้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.17

“การให้สวัสดิการผู้สูงอายุ ประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่อาจหมายถึงเงินที่นำไปจุนเจือในครอบครัวของเขา หรือกระจายไปสู่ชุมชน จากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้ออาหารในชุมชน ซึ่งทำให้เกิดการกระจายรายได้และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งยังถือเป็นการจ่ายภาษีกลับคืนรัฐผ่านภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้า (VAT) อีกด้วย” สมชายระบุ

อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ยืนยันว่า นโยบายบำนาญแห่งชาตินั้นจำเป็นต้องทำอย่างถ้วนหน้า เพราะทุกคนล้วนจ่ายภาษีให้กับรัฐ และมุมมองที่ว่า “คนจนไม่จ่ายภาษี” นั้นเป็นเพียงมายาคติ เพราะหากดูสัดส่วนของภาษีที่เก็บได้ในแต่ละปีจะพบว่า ประมาณร้อยละ 60 เป็นภาษีทางอ้อมที่มาจากการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับข้อมูลสถิติที่ว่ากลุ่มคนจนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่คนรวยมีเพียงร้อยละ 10 ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจนเป็นส่วนสำคัญที่จ่ายภาษีให้กับประเทศเช่นกัน  นอกจากนี้การเลือกให้สวัสดิการเฉพาะคนจน จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องเส้นแบ่งความจน - รวย ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ละเอียดหรือแบ่งแยกได้ชัดเจน อาจทําให้มีบางคนที่ตกหล่นเป็นคนยากจนแต่ไม่ได้รับสวัสดิการ ดังนั้น การให้บำนาญแห่งชาติอย่างถ้วนหน้าจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ในกฎหมายมีข้อที่ระบุว่า สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับเงินสวัสดิการ เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ เช่น ฐานะดีหรือมีความพร้อมในด้านการเงิน ก็สามารถปฏิเสธการรับเงินสวัสดิการดังกล่าวได้

เมื่อถามถึงบทบาทหน้าที่ของสภาผู้บริโภคต่อเรื่องการผลักดันกฎหมายบำนาญแห่งชาติในช่วงที่ผ่านมา สมชายระบุว่า สภาผู้บริโภคเป็นจุดขับเคลื่อนที่สําคัญในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบํานาญแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากการเสนอกฎหมายภาคประชาชน สิ่งที่สำคัญรองลงมาจากการร่าง พ.ร.บ. คือ การระดมลายมือชื่อจากภาคประชาชน และสภาผู้บริโภคถือเป็นกลไกสําคัญที่ช่วยรณรงค์ ทําความเข้าใจกับองค์กรสมาชิก เพื่อให้องค์กรสมาชิกนำไปขยายผลและทำความเข้าใจกับผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อระดมลายมือชื่อ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือสามารถระดมลายมือชื่อได้เกิน 10,000 รายชื่อ ภายในระยะเวลาประมาณ 20 วัน จึงถือเป็นฟันเฟืองที่สําคัญที่ทําให้สามารถเสนอกฎหมายฉบับนี้ได้สําเร็จ และหลังจากนี้ สภาผู้บริโภคจะติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ต่อไป

สมชายกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ ทั้งการเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บไซต์ของรัฐสภาเพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ และช่วยกันเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้กับคนในครอบครัว ชุมชน หรือคนที่รู้จักให้ทราบถึงประโยชน์ของการมีบำนาญแห่งชาติ 

ชวน "ผู้บริโภค" แสดงความเห็นต่อ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ 

นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมทั้ง 2 วันยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของคนในพื้นที่เพื่อสะท้อน ปัญหา อุปสรรค และความคาดหวังในเรื่องการผลักดันกฎหมายบำนาญแห่งชาติ โดยความเห็นส่วนใหญ่ในวงแลกเปลี่ยนเชื่อว่า บำนาญแห่งชาติเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ ในฐานะผู้เสียภาษีให้ประเทศ ทั้งนี้การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและช่วยยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอ ในการบริหารจัดการภาษีนำมาจัดสวัสดิการ ทั้งยังมีข้อมูลสนับสนุนว่าการจัดระบบบำนาญแห่งชาติทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอีกด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนและรณรงค์ในเรื่องบำนาญแห่งชาติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดเครือข่ายใหม่ ๆ และมีกลไกกลางที่ประสานเชื่อมโยงให้เกิดการผลักดันนโยบายทั้งในเรื่องนี้และประเด็นด้านนโยบายอื่น ๆ อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ พรรคการเมืองนำแนวคิดเรื่องบำนาญประชาชน หรือสวัสดิการผู้สูงอายุไปเป็นนโยบายในการหาเสียง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนรับรู้ เข้าใจ มีส่วนร่วม และสนับสนุนเรื่องกฎหมายบำนาญแห่งชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาและอุปสรรคเรื่องการ ประชาสัมพันธ์ในภาพรวมที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ไม่มากนัก การขยายประเด็นในการสื่อสาร เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการมีบำนาญแห่งชาติ รวมถึงประเด็นเรื่องกระบวนการทางกฎหมาย ที่ทำให้กฎหมายภาคประชาชน “ถูกปัดตก” หรือไม่โอกาสได้นำเข้าไปพิจารณาในรัฐสภา เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐสภาได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยผู้บริโภคสามารถร่วมให้ความเห็นได้ที่เว็บไซต์ของรัฐสภา (https://www.parliament.go.th/section77/) ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2567