ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากข้อมูลออนไลน์เรื่อง การป้องกันการปวดหัว โดยใช้น้ำตบท้ายทอยเบา ๆ สัก 2 – 3 ครั้ง ทุกวันตอนเช้า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีมีผู้โพสต์ข้อความถึงวิธีป้องกันการปวดหัว โดยระบุว่า ตื่นเช้ามา เวลาล้างหน้าแต่ละครั้ง ให้เอาน้ำตบท้ายทอยเบา ๆ สัก 2 – 3 ครั้ง ทำทุกวัน อาการปวดหัวบ่อย ๆ จะค่อย ๆ หายไป ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าเป็นการแนะนำที่ไม่ถูกต้อง อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด การรักษาแต่ละโรคมีความแตกต่างกันออกไป พร้อมยืนยันว่า การล้างหน้าตอนเช้าหรือเอาน้ำลูบท้ายทอย ไม่สามารถป้องกันการปวดศีรษะที่อาจจะมีสาเหตุแตกต่างกันได้

สำหรับอาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด ทั้งจากความผิดปกติของสมองและระบบประสาท หรือเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ โดยกรมการแพทย์ ระบุว่า ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัว จำเป็นต้องสังเกตว่า อาการดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบไปรับการตรวจรักษามากน้อยเพียงใด เช่น  1.อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้สูงอายุ หรืออายุเกิน 50 ปี ที่ไม่เคยปวดลักษณะนี้มาก่อน เกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงมาก 2.อาการปวดหัวร่วมกับความผิดปกติทางระบบประสาท อาทิ เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด แขนขาชาหรืออ่อนแรง หน้าเบี้ยว มุมปากตก เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ พูดลำบาก พูดไม่ชัด ฟังไม่เข้าใจหรือพูดไม่ออก มีอาการชักเกร็ง มีไข้ คอแข็ง ก้มเงยคอไม่ได้ เนื่องจากเจ็บหรือปวดมาก ๆ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย 3.อาการปวดหัวในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ มีอาการปวดหัวร่วมกับตาแดง ตามัว หรือมองเห็นภาพแคบลงหรือเปลี่ยนแปลงไป 4.อาการปวดหัวเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความถี่และความรุนแรง รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น และ 5.อาการปวดหัวเฉพาะที่ ไม่มีการย้ายตำแหน่ง ปวดที่เดิมตลอด เป็นต้น

ส่วนสาเหตุของอาการปวดหัวนั้น เกิดได้จากหลายปัจจัย นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา อธิบายถึงเหตุและปัจจัยว่า อาการปวดหัวนั้นเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัยแวดล้อม เช่น ภาวะเครียดจากงานหรือสภาพจิตใจ อุณภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป สภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังหรือวุ่นวาย การทำกิจกรรมที่มากหรือหนักเกินไป อีกทั้งการปวดหัวจากโรคกลุ่มไมเกรนมักจะไม่ค่อยรุนแรง แต่อาจรบกวนการทำกิจวัตประจำวัน ตำแหน่งมักจะกินพื้นที่ของบริเวณศีรษะ อาจเปลี่ยนย้ายตำแหน่งของอาการปวด ปวดได้ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา หายเร็วหรือช้าแตกต่างกันไป หากมีอาการปวดหัวร่วมกับสัญญาณเตือน ควรรีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันที 

ทั้งนี้ วิธีปฏิบัติตัวกรณีเกิดการปวดหัวโดยไม่มีสัญญาณอันตราย นายแพทย์ธนินทร์ แนะนำว่า ให้พยายามหลีกเลี่ยงเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่ชัดเจน สามารถรับประทานยาแก้ปวด และรอสังเกตอาการ นอกจากนี้ ยังใช้วิธีการบีบนวดศีรษะ ฝังเข็ม ฟังดนตรีผ่อนคลาย เพื่อช่วยลดหรือบรรเทาอาการปวดหัวได้ ส่วนการใช้สายรัดชงศีรษะจะบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยจากความเครียดได้ คล้ายการบีบนวดศีรษะ หรือกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 จะมีการใช้แผ่นคาดศีรษะที่มีไฟฟ้าขนาดน้อย ๆ กระตุ้นเส้นประสาท ลดการทำงานที่มากเกินไปหรือผิดปกติ เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวจากไมเกรน แต่ราคายังค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้วิธีใดในการรักษาควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อน

อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น ปวดไมเกรน ปวดคลัสเตอร์ หรือปวดจากพยาธิสภาพในสมอง จึงควรเข้ารับการตรวจรักษา ขอรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม เป็นไปอย่างถูกต้อง และปลอดภัย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org