ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาการปวดหัว เกิดได้จากสาเหตุสำคัญอะไรบ้าง ปวดหัวแบบไหนอันตราย สัญญาณร้ายโรคสมองและระบบประสาท 

ทุกเพศทุกวัย สามารถเกิดอาการปวดหัวได้ เพราะอาการปวดหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ หลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ระบุว่า อาการปวดหัวอาจเกิดได้จากปัจจัยแวดล้อม เช่น ภาวะเครียดจากงานหรือสภาพจิตใจ อุณภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป สภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังหรือวุ่นวาย การทำกิจกรรมที่มากหรือหนักเกินไป อาการปวดหัวจากโรคกลุ่มไมเกรน ซึ่งอาการปวดหัวจากโรคในกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยรุนแรง แต่อาจรบกวนการทำกิจวัตประจำวันเป็นแต่ละครั้งอาจจะหายเร็วหรือช้าแตกต่างกันไป ตำแหน่งมักจะกินพื้นที่ของบริเวณศีรษะค่อนข้างมาก หรือเปลี่ยนย้ายตำแหน่งของอาการปวดไปตามส่วนต่าง ๆ ของศีรษะ บางครั้งซ้าย บางครั้งขวา หากมีอาการปวดโดยปราศจากสัญญาณอันตราย อาการปวด มีเหตุและปัจจัยกระตุ้นชัดเจน อาจจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิด สามารถรับประทานยาแก้ปวด รอสังเกตอาการ หรือเลือกใช้วิธีการบีบนวดศีรษะ ฝังเข็ม ฟังดนตรีผ่อนคลาย ก็อาจจะช่วยลดหรือบรรเทาอาการได้ในบางสาเหตุ อย่างไรก็ตาม โรคปวดศีรษะมีหลายประเภทซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกัน การซื้อยาแก้ปวดทานเองบ่อยครั้งอาจกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นและเกิดอันตรายได้ 

ส่วนอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (cluster headache) พบได้ไม่บ่อยเท่าปวดศีรษะไมเกรน ลักษณะการปวดมักจะรุนแรงที่รอบเบ้าตา หรือขมับข้างใดข้างหนึ่งร่วมกันกับมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ตาแดง น้ำตาไหล เปลือกตาบวม คัดจมูกข้างเดียวกับที่ปวด โดยมีระยะเวลาปวด 15 นาทีจนถึงสามชั่วโมง 

ลักษณะเด่นที่ช่วยในการวินิจฉัยคือ มักมีอาการปวดเวลาเดิม ๆ ของวัน เช่น อาจมีอาการปวดแบบนี้ได้ตั้งแต่วันเว้นวันจนถึง 8 ครั้งต่อวัน ปวดไปเช่นนี้ติดต่อเกือบทุกวัน เป็นอาทิตย์จนถึงสองสามเดือนแล้วหาย และจะวนกลับมาเป็นอีกในช่วงเวลาเดิมของปีถัด ๆ ไป ลักษณะที่มีปวดติดต่อกันเป็นช่วง ๆ แบบนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ คลัสเตอร์ ปัจจุบันมีข้อมูลว่าโรคนี้เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส 

สำหรับอาการปวดหัวแบบอื่นที่เป็นสัญญาณอันตราย ได้แก่ อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้สูงอายุ หรืออายุเกิน 50 ปี โดยไม่เคยปวดลักษณะนี้มาก่อน อาการปวดที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงมาก อาการปวดหัวร่วมกับความผิดปกติทางระบบประสาท อาทิ เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด แขนขาชาหรืออ่อนแรง หน้าเบี้ยว มุมปากตก เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ พูดลำบาก พูดไม่ชัด ฟังไม่เข้าใจหรือพูดไม่ออก มีอาการชักเกร็ง มีไข้ คอแข็ง ก้มเงยคอไม่ได้ เนื่องจากเจ็บหรือปวดมาก ๆ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย อาการปวดหัวในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ มีอาการปวดหัวร่วมกับตาแดง ตามัว หรือมองเห็นภาพแคบลงหรือเปลี่ยนแปลงไป อาการปวดหัวเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความถี่ และความรุนแรง รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น อาการปวดหัวเฉพาะที่ ไม่มีการย้ายตำแหน่ง ปวดที่เดิมตลอด

เมื่อมีอาการปวดศีรษะ พร้อมกับพบสัญญาณเตือนอาการปวดหัวที่ต้องรีบไปรับการตรวจรักษา ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org