ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย่าเชื่อ! ริดสีดวง​ทวารเรื้อรัง รักษาได้โดยงดเนื้อสัตว์ โรคริดสีดวงทวาร ปัญหากวนใจกลุ่มไหนมีความเสี่ยง ป้องกันได้อย่างไร 

จากกรณีข้อมูลในโลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องโรคริดสีดวงทวาร ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยประเด็นที่ว่าหากต้องเบ่งขณะขับถ่าย มีความเสี่ยงเป็นริดสีดวง เส้นเลือดสมองแตก​ ไส้เลื่อน​ และมะเร็งลำไส้ ทางโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า จากข้อมูลอาจหมายถึงอาการท้องผูกเรื้อรัง จนทำให้ต้องมีการเบ่งถ่ายเป็นประจำ ซึ่งอาจพบได้ในโรคมะเร็งลำไส้ อาจเป็นปัจจัยทำให้อาการของโรคริดสีดวงทวารหนักหรือไส้เลื่อนแย่ลงได้ แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคทั้งสองได้โดยตรง รวมถึงการที่เส้นเลือดสมองแตกจากการเบ่งขณะขับถ่ายที่เป็นสาเหตุก็พบได้น้อยมาก 

ส่วนประเด็นเรื่อง เป็นริดสีดวงมีความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การเป็นโรคริดสีดวงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ รับประทานอาหารกากใยน้อย อาหารปิ้งย่างรมควัน การรับประทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูปเป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือดหรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ๆ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ขนาดของลำอุจจาระเล็กลง มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด และจุกเสียด

เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่า ริดสีดวง​ทวารเรื้อรัง รักษาได้โดยงดเนื้อสัตว์​ 7 วัน พร้อมกินเห็ดบ่อย ๆ เรื่องนี้ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ริดสีดวงทวารไม่มีข้อมูลทางการแพทย์สนับสนุนว่าสามารถรักษาได้ด้วยการงดเนื้อสัตว์ 7 วันและทานเห็ดบ่อย ๆ

สำหรับสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า ริดสีดวงเป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่มีการบวมพองยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงภายใน เกิดบริเวณเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนัก และริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่างมีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก 

ด้านกลุ่มเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคริดสีดวงทวารนั้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคริดสีดวงทวารเกิดได้กับทุกวัย กลุ่มเสี่ยงสำคัญ คือ ผู้ที่ตั้งครรภ์ เป็นโรคอ้วน สามารถป้องกันได้ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงและดูแลสุขภาพ ดังนี้ ไม่ควรนั่งแช่หรือนั่งถ่ายอุจจาระนาน ๆ ดูแลสุขภาพไม่ให้น้ำหนักตัวเกิน ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ฝึกร่างกายให้ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา อย่ากลั้นอุจจาระ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพยายามเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ หากพบว่ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียเรื้อรัง แนะนำให้ไปโรงพยาบาล

สำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร หากมีอาการเรื้อรังหรือเป็นหนัก หลอดเลือดจะบวม บางรายเห็นหัวริดสีดวงโผล่ออกมาจากทวารหนัก เป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ซึ่งก้อนนี้จะทำให้เกิดอาการปวดและเจ็บ อาจจะทำให้เกิดอาการคัน กลั้นอุจจาระไม่อยู่ และพบเลือดออกจากทวารหนัก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org