ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาวะอุจจาระตกค้าง

ทำความรู้จัก ภาวะอุจจาระตกค้าง หากเกิดอาการ กินมากไม่ถ่าย ท้องอืดแน่นจนปวด ปวดหลังส่วนล่าง หายใจไม่สะดวก ปวดหลังส่วนล่าง หายใจไม่สะดวก 

จากโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ ระบุว่า กินมากแต่ไม่ถ่าย ท้องแข็งเป็นลำ ไม่ตดนอนไม่หลับอึดอัดแน่น ลมในท้องจะเข้าแทรกดันไตกะบังลมให้ปวดออกหลัง ปล่อยไว้ปอดหัวใจทำงานผิดปกติ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบกับสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงกรณีกินมากแต่ร่างกายไม่ถ่ายออกมา เรียกว่า ภาวะอุจจาระตกค้าง สำหรับภาวะอุจจาระตกค้าง จะมีหลายอาการประกอบกันดังนี้

  • ปวดท้อง 
  • ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • มีเลือดปนอุจจาระเนื่องจากริดสีดวง 
  • รับประทานอาหารได้น้อย เบื่ออาหาร 
  • เรอเปรี้ยว ผายลมบ่อย 
  • ปัสสาวะบ่อยจากการที่กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ 
  • ปวดหลังส่วนล่าง หายใจไม่สะดวก เพราะอุจจาระและลมในช่องท้องมากจนไปดันกะบังลม 

ส่วนข้อมูลที่ว่า กินมากแต่ไม่ถ่ายปล่อยไว้ปอดหัวใจทำงานผิดปกตินั้น ภาวะอุจจาระตกค้าง ไม่มีผลต่อการทำงานของปอดและหัวใจ   

วิธีป้องกัน ภาวะอุจจาระตกค้าง 

สำหรับการป้องกัน ภาวะอุจจาระตกค้าง สามารถฝึกได้ ทำได้ไม่ยาก เช่น 

  1. ฝึกขับถ่าย ต้องฝึกให้เป็นเวลาทุกวัน
  2. ฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระ หลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่าย แต่ร่างกายต้องเบ่งถ่ายอุจจาระให้ถูกวิธี ซึ่งทำได้โดยนั่งบนโถชักโครก โค้งตัวไปข้างหน้าเพียงเล็กน้อย ใช้มือกดท้องด้านซ้ายล่างเอาไว้ วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นลำไส้เคลื่อนตัวได้ดี แต่การฝึกขับถ่าย ร่างกายต้องผ่อนคลาย ไม่ควรเกร็ง
  3. ไม่กลั้นอุจจาระ ควรหาห้องน้ำและขับถ่ายทันทีที่ปวด การพยายามเบ่งอุจจาระตอนที่ยังไม่ปวดท้อง การเบ่งอุจจาระแรงจะเพิ่มแรงดันในลำไส้ เมื่อทำบ่อย ๆ ลำไส้โป่งพอง อาจเกิดริดสีดวงทวาร
  4. ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย แนะนำให้ดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน โดยจิบระหว่างวัน 
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกผัก ผลไม้ ที่มีกากใยสูง เพราะไฟเบอร์มีประโยชน์ต่อการขับถ่าย ช่วยลด ภาวะอุจจาระตกค้าง ได้
  6. เสริมด้วยอาหารกลุ่มโปรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว แต่ควรเลือกชนิดที่มีน้ำตาลน้อย
  7. ออกกำลังกาย นอกจากจะได้ความแข็งแรงของร่างกายแล้ว ยังช่วยให้ลำไส้ได้บีบตัว กระเพาะอาหารย่อยดีขึ้น

"ทำความรู้จัก ภาวะอุจจาระตกค้าง "

อาการท้องผูก แตกต่างจาก ภาวะอุจจาระตกค้าง

นอกจาก ภาวะอุจจาระตกค้าง อาการท้องผูกก็มีลักษณะอาการที่ใกล้เคียง และต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เกิด สำหรับอาการท้องผูกนั้นพบได้บ่อย เมื่อลำไส้บีบตัว หรือแม้แต่เคลื่อนตัวช้าตอนที่ย่อยอาหาร จนไม่อาจขับถ่ายอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ อธิบายถึงลักษณะอาการว่า สัญญาณเตือน ได้แก่

  • การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือการขับถ่ายนั้นน้อยกว่าที่เคยเป็น
  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็ก
  • รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออก ถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด 
  • ถ่ายอุจจาระออกยาก ต้องใช้แรงเบ่ง
  • มีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ 
  • อาจพบอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง

หากพบว่ามีลักษณะอาการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นระยะเวลานาน หรือเกิดติดต่อกัน 3 เดือน จากแค่อาการท้องผูกธรรมดาจะกลายเป็นท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งอาการท้องผูกเรื้อรังจะรุนแรงมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคริดสีดวงทวาร เกิดแผลแตกรอบ ๆ ทวารหนัก และเกิดอาการลำไส้อุดตัน

สาเหตุท้องผูก

  • อั้นอุจจาระบ่อย อั้นอุจจาระเป็นเวลานาน 
  • ไม่รับประทานอาหารที่มีกากใย หรือรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไม่เพียงพอ 
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย 
  • การรับประทานยาบางชนิดก็มีผลให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน เช่น ยาระงับปวด ยาลดกรด ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก ยาขับปัสสาวะ 
  • ดื่มน้ำน้อย 
  • น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป 
  • ปัญหาความเครียด มีปัญหาทางด้านจิตใจ

อาการท้องผูกป้องกันได้

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง โดยเฉพาะผัก ผลไม้และธัญพืช 
  2. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน 
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  4. ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน 
  5. ไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน 

หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้การรักษาด้วยการใช้ยาแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น เส้นใยหรือไฟเบอร์ มีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดน้ำได้ดี อุจจาระนิ่ม ถ่ายออกได้ง่าย ยาระบายกลุ่มกระตุ้น กระตุ้นจังหวะการบีบตัวของลำไส้ให้ทำงานดีขึ้น ยาระบายกลุ่มออสโมซิส ช่วยออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้น อุจจาระจึงไม่แห้งและแข็ง ลดปัญหาการขับถ่ายออกลำบาก ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ ยาเหน็บ และการสวนอุจจาระ 

"อาการท้องผูก แตกต่างจาก ภาวะอุจจาระตกค้าง"

สำหรับอาการอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ให้วินิจฉัย เข้ารับรักษาอย่างถูกต้อง โดยมีสัญญาณเตือน อาทิ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ และอ่อนเพลีย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ความจริงของ "โรคริดสีดวงทวาร" พฤติกรรมเสี่ยงและวิธีป้องกัน

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง