ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย่าแชร์! วิธีการตบจุดใต้รักแร้ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ความจริงต้องดูแลสุขภาพร่างกายอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน

จากการเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพ ประเด็นเรื่องวิธีการตบจุดใต้รักแร้ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ตามที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอชวนเชื่อ เรื่อง วิธีการตบจุดใต้รักแร้ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า วิธีตบใต้รักแร้ซึ่งเป็นตำแหน่งของจุดจี๋เฉฺวียน ไม่สามารถรักษาโรคหัวใจ และโรคตามการกล่าวอ้างข้างต้นได้แม้วิธี ตบจะสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเส้นลมปราณ หรือชี่และเลือดได้ รวมถึงจุดดังกล่าวเป็นจุดบนเส้นลมปราณหัวใจก็ตาม แต่วิธีตบถูกห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ และการใช้แค่วิธีตบอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับใช้รักษาโรคดังกล่าว รวมถึงตามหลักการรักษาด้วยการนวดทุยหน้าไม่ใช่วิธีนวดแค่วิธีหรือทาวิธีเดียวและมีการเลือกใช้จุดที่ นวดหลายจุด ตามการวินิจฉัยโรคและกลุ่มอาการ ซึ่งทำให้มีการเลือกใช้จุดและวิธีการที่แตกต่างกัน

อวัยวะสำคัญอย่าง หัวใจ เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย หัวใจเป็นอวัยวะในทรวงอกอยู่ระหว่างปอดทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะและส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย สถาบันโรคทรวงอก แนะนำวิธีดูแลสุขภาพของหัวใจด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม จำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทานต่อวัน งดสูบบุหรี่เพราะสารพิษในบุหรี่จะส่งผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง และออกกำลังกายเป็นประจำอย่างพอดีและเหมาะสม จะช่วยให้หัวใจแข็งแรง กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ความดันโลหิตลดลง ลดการเกิดความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ทั้งลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคเบาหวานและลดภาวะเครียด นอกจากจะส่งผลดีต่อหัวใจแล้ว การออกกำลังกายยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม เพิ่มภูมิต้านทานโรค ลดไขมันในเลือด ช่วยให้นอนหลับสนิท ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายดีขึ้น 

ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหัวใจ สามารถทำกิจกรรมได้ ออกกำลังกายได้ แต่ต้องเลือกการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยมีหัวใจที่แข็งแรงขึ้น ไม่มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อหัวใจ 1.เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับ เริ่มจากกิจกรรมเบา ๆ เช่น ยืน เดิน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นแกว่งแขน เดินเร็ว วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ควรอบอุ่นร่างกาย และยืดหยุ่นกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกายทุกครั้ง 2.ระหว่างออกกำลังกายพยายามหายใจให้ปกติ ควรสังเกตการหายใจไม่ให้ติดขัด ต้องพูดคุยได้โดยไม่เหนื่อยหอบ ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป แต่ควรเน้นที่ระยะเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสม 3.ระยะเวลาค่อย ๆ เริ่มจาก 5-10 นาที แล้วเพิ่มระยะเวลาขึ้นเรื่อย ๆ ควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง 20-30 นาที 4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 วันต่อสัปดาห์ และ 5.ไม่ควรออกกำลังกายหรือหยุดออกกำลังกายทันทีเมื่อมีอาการดังนี้ คือ เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก มือเท้าเย็นซีด เหนื่อยผิดปกติ ผู้ป่วยจึงควรออกกำลังกายด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

สำหรับโรคหัวใจที่ต้องระวัง คือ โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ซึ่งพบได้บ่อยเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ข้อมูลจากกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก ระบุว่า เกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน และหายใจไม่อิ่ม สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน คือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ โรคนี้เกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา ทั้งตอนที่ออกกำลังกาย หรือแม้แต่เวลานอนหลับ เกิดจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว จากการมีคราบไขมัน (Plaque) และเมื่อเกิดการปริแตกของผนังด้านในหลอดเลือดบริเวณนั้น ทำให้มีลิ่มเลือดมาจับตัวเป็นก้อน จนเกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดจนกล้ามเนื้อหัวใจตาย

สัญญาณอันตรายผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หากผู้ป่วยมีอาการแต่ยังรู้สึกตัวดีต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org