ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในขณะที่คนไทยเกือบทั่วประเทศกำลังสำลักฝุ่น PM 2.5 กันอยู่นี้ก็มีผลการวิจัยของทีมนักวิยาศาสตร์ออสเตรเลียและจีนที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Planetary Health บอกว่า ประชากรเพียง 0.001% ของโลกเท่านั้นที่ได้หายใจเอากาศที่ไม่มีมลพิษเข้าร่างกาย ที่เหลืออีก 99.82% ล้วนสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ในระดับที่เป็นอันตรายซึ่งสูงกว่าระดับความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ประเทศแถบเอเชียมีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

นอกจากอาการที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังจากสัมผัสฝุ่น PM 2.5 อาทิ เจ็บคอ แสบจมูกเป็นผื่น ไปจนถึงอาการที่จะส่งผลในระยะยาวอย่างโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดแล้ว ฝุ่นจิ๋วตัวร้ายนี้ยังทำร้ายหัวใจของเราด้วย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า กว่า 20% ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ และทุกๆ ปีมีมากกว่า 3 ล้านคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุนี้

องค์การอนามัยโลกระบุว่า หากในอากาศมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 10-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแล้วร่างกายได้รับเข้าไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลเสียต่อการแข็งตัวของเลือด การทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และโรคมะเร็ง

ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับหัวใจนั้น หากเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันจะส่งผลให้เส้นเลือดเปราะ เส้นเลือดแตก และในผู้ป่วยโรคหัวใจจะเข้าไปกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น ส่วนในระยะยาวผลกระทบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ กระตุ้นการอักเสบทั่วร่างกาย หลอดเลือดหนาตัวมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดเติบโตขึ้น

ข้อมูลจากสมาคมโรคหลอดเลือดหัวใจแห่งยุโรป (ESC) ระบุว่า มลพิษทางอากาศทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 8.8 ล้านคนต่อปี จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.5 ล้านคน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มลพิษทางอากาศทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่สามารถเลิกสูบได้ แต่มลพิษในอากาศหลีกลี่ยงไม่ได้

ระดับฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบันทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกลดลงถึง 2.2 ปี

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์อังกฤษพบว่า มลพิษทางอากาศยังก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจากเครื่งยนต์สันดาปภายในกระตุ้นให้เซลล์ในปอดที่มีการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งซ่อนร้นอยู่เติบโตขึ้น

ชาร์ลส์ สวอนตัน หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันฟรานซิส คริก และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) เผยว่า “เซลล์ที่มีการกลายพันธุ์ที่จะก่อให้เกิดมะเร็งจะเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเราอายุมากขึ้น แต่โดยปกติแล้วพวกมันจะอยู่เฉยๆ เราพบว่ามลพิษทางอากาศปลุกให้เซลล์เหล่านี้ที่อยู่ในปอดตื่น กระตุ้นให้มันเติบโตขึ้น และอาจก่อตัวเป็นมะเร็ง”

ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่า มลพิษทางอากาศอาจกระตุ้นการเติบโตเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์ที่อาจก่อมะเร็งที่อยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย และด้วยเหตุนี้จึงกระตุ้นให้เกิดมะเร็งระยะแรกหลายชนิด และยังพบว่าเกิดมะเร็งชนิดอื่นในอัตราสูงในพื้นที่ที่มีฝุ่นขนาดเล็กหนาแน่น

 

กระตุ้นเซลล์ที่อยู่เฉยๆ

การสูบบุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปอด แต่ในปี 2019 การเสียชีวิตจากมะเร็งปอดทั่วโลกราว 300,000 เคสมีสาเหตุมาจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษทำการทดสอลสมมติฐานที่ว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้ปอดอักเสบและปลุกให้เซลล์ที่อยู่เฉยๆ ที่มีการกลายพันธ์ที่ก่ให้เกิดมะเร็งตื่นขึ้นมา ทำให้เซลล์พวกนี้เติบโตและก่อตัวเป็นมะเร็ง โดยมองหามะเร็งปอดที่ยีน epidermal growth factor receptor (EGFR) ซึ่งเป็นยีนที่พบการกลายพันธุ์มากที่สุดคือ 10% ในคนไข้มะเร็งปอดทั่วๆ ไป และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ในเอเชียพบได้ถึง 50%

นักวิจัยตรวจสอบข้อมูลของประชาชนกว่า 400,000 คนในอังกฤษ เกาหลีใต้ และไต้หวัน เปรียบเทียบกับอัตราการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ในพื้นที่ที่มีระดับ PM 2.5 แตกต่างกัน และพบการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ในอัตราสูง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่น ในผู้คนที่อาศัยอยู่ในพืนที่มีมีมลพิษทางอากาศสูง

จากนั้นทำให้หนูทดลองที่เป็นมะเร็งปอดจากการกลายพันธุ์ของยีน EGFR สัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับปปกติที่มักพบตามเมืองต่างๆ โดยพบว่า มะเร็งมีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นในหนูเหล่านี้มากกว่าหนูที่ไม่ได้สัมผัสกับมลพิษทางอากาศ

ที่น่าสนใจคือ นักวิจัยพบว่า การขัดขวางโมเลกุล IL-1β (interleukin-1β) ซึ่งปกติจะก่อให้เกิดการอักเสบและถูกปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อการสัมผัส PM 2.5 ช่วยป้องกันไม่ให้มะร็งก่อตัวในหนูทดลองเหล่านั้น

แม้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์จะค้นพบวิธีสกัดกั้นมะเร็งปอดที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 แล้ว แต่ทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือหากเป็นไปได้ควรเปิดเครื่องฟอกอากาศเพื่อกดให้ค่าฝุ่นไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

 

ภาพ: Shutterstock

https://www.shutterstock.com/th/image-photo/asian-man-feel-pain-on-lung-1812178024