ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน คาดปัญหาเยอะช่วงปลายปีถึงกลางมี.ค.  ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพพบว่าฝุ่น เสี่ยงก่อหลายโรค “มะเร็ง หลอดเลือดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฯลฯ”

 

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการรับมอบหน้ากากฟอกอากาศ และกระเป๋าฆ่าเชื้อ UVC LED จากบริษัทธัญญบุรีฮอนด้าคาร์ จำกัด ว่า วันนี้ได้รับมอบหน้ากาก และกระเป๋าฆ่าเชื้อจากบริษัทธัญญบุรีฮอนด้าคาร์ ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 โดยเฉพาะวันนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (EOC) รองรับสถานการณ์ ที่มี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้อำนวยการ ทำหน้าที่ 1.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังเรื่องสิ่งแวดล้อม และ 2.การเฝ้าระวังผลกระทบทางด้านสุขภาพ ซึ่งผลกระทบที่เกิดกับประชาชนจะมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ฝุ่น PM2.5 ก่อหลายโรค “มะเร็ง หลอดเลือดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฯลฯ”

นพ.โอภาสกล่าวว่า ผลกระทบระยะยาวนั้นมีข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลายโรค ที่พูดกันเยอะคือ มะเร็ง และหลอดเลือดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น ส่วนระยะสั้น คนกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ เด็กเล็กหากช่วงที่มีปัญหาฝุ่น ก็ควรงดออกจากบ้าน รวมถึงจัดอุปกรณ์ ยากรักษา หอบหืด หากพื้นที่ทีมีกลุ่มเสี่ยงมากจะต้องมีคลีนรูมในโรงพยาบาลที่มีเครื่องฟอกอากาศ คือสิ่งที่เราเตรียมการไว้ รวมถึงการเฝ้าระวังอาการเฉียบพลัน เช่น การระคายเคืองตา ระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองจมูก ซึ่งปีที่แล้วพบเยอะ แต่ไม่ได้มาโรงพยาบาล

สธ.พร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน   

“เรามีความพร้อมในการรับมือ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีปัญหาเยอะก็จะมีความพร้อมมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกจังหวัดจะได้รับผลกระทบหมด อย่างกรุงเทพมหานคร บางวันก็ได้รับผลกระทบ แต่ช่วงนี้มีฝนตกทำให้ปัญหาเบาบางลง เท่าที่ติดตามก็ไม่มีปัญหาอะไร หากตามสถานการณ์เดิม ช่วงที่จะมีปัญหาคือช่วงปลายปี ถึงกลางเดือน มี.ค. และจากการติดตามสภาพอากาศปีหน้าคาดว่าจะแล้ง และร้อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ โดยเฉพาะไฟป่าเกิดง่ายขึ้น จึงคาดว่าปัญหาน่าจะหนักหน่วงพอสมควร ส่วนภาคใต้ช่วงนี้มีฝนตก ส่วนที่เคยมีปัญหาฝุ่นจากการเผาไหม้จากประเทศเพื่อนบ้านทางภาคใต้ก็ลดลง” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ดังนั้น ต้องกระตุ้นเตือนไม่ให้เกิดฝุ่น เพราะสธ.เป็นหน่วยงานปลายทางแล้ว ดังนั้นต้องป้องกันตั้งแต่ต้นตอของการเกิดฝุ่น อย่างเช่นการหันมาใช้พลังงงานทดแทน โดยกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าติดโซลาร์เซลล์ ซึ่งทำไปได้จำนวนมากพอสมควร สามารถประหยัดพลังงานได้เยอะ และล่าสุดมีนโยบายเปลี่ยนรถพยาบาลทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า โดยจะทยอยๆ เปลี่ยนในคันที่อายุเกินการใช้งานก่อน ทั้งนี้ได้มีการเชิญบริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆ มาพูดคุยเรื่องสเปครถที่ต้องการ ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดปัญหาการเกิดฝุ่นได้