ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงาน “มหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2566” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย เพิ่มพูนความรู้ทักษะการตรวจรักษาโรคที่พบบ่อยในพื้นที่ การนำเทคโนโลยีระบบ Telemedicine มาใช้ในการรักษา รวมถึงส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย Sky Doctor เพิ่มศักยภาพสุขศาลาพระราชทานสู่หน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน เป็นที่พึ่งให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล ได้เข้าถึงบริการที่เป็นธรรมและเท่าเทียม 

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ โรงแรม สตาร์ คอนเวนชั่น ระยอง จังหวัดระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2566” พร้อมมอบเกียรติบัตรให้กับสุขศาลาพระราชทาน 16 แห่ง ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ การรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขชุมชน โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พล.ต.ต.ยงเกียรติ มนปราณีต 
รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน น.ต.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรประจำสุขศาลาพระราชทานทั่วประเทศ อสม. พี่เลี้ยงจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลแม่ข่าย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนกว่า 300 คน ร่วมงาน

ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ มุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดตั้งสุขศาลาพระราชทานขึ้น ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันมีสุขศาลาพระราชทาน จำนวน 26 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ ให้บริการตรวจรักษาทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และบุคคลไร้รัฐ ประมาณปีละ 25,000 – 30,000 ราย มีสุขศาลาพระราชทานที่ผ่านการรับรองคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขแล้ว จำนวน 16 แห่ง

และในปี พ.ศ. 2567 ได้ตั้งเป้าผ่านการรับรองคุณภาพอีก 10 แห่ง ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนสุขศาลาพระราชทาน ให้เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิที่มีคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขศาลาพระราชทาน จึงจัดงานมหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2566 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานระหว่างเครือข่ายสุขศาลาพระราชทาน รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการนำระบบ Telemedicine มาใช้ในการรักษา  และสื่อสารด้านสุขภาพกับประชาชน การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ หรือ Sky Doctor  และการตรวจรักษาโรคที่พบบ่อยในพื้นที่ เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้แก่ครูพยาบาล เจ้าหน้าที่ และอสม. สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ตามบริบทพื้น เกิดการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ได้เข้าถึงบริการที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ด้าน นพ.สุระ กล่าวว่า สุขศาลาพระราชทานเปรียบเสมือนสถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็กของกระทรวงสาธารณสุข ต้องได้รับการรับรองตามเกณฑ์คุณภาพการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นเกณฑ์พื้นฐานที่กําหนดขึ้นจากการประเมินสภาพแวดล้อม ความต้องการ และความเป็นไปได้ ของการดําเนินงานในพื้นที่สุขศาลาพระราชทาน เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาด้านการให้บริการสาธารณสุขที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยแบ่งการรับรองคุณภาพเป็น 6 หมวด ประกอบด้วย

1. วัตถุประสงค์ของหน่วยงาน การจัดโครงสร้างหน่วยงาน  2.  การจัดอัตรากำลังและการพัฒนาบุคลากร 3. กระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติงาน 4. ยา เวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ อาคารและสภาพแวดล้อม 5. กระบวนการรักษาพยาบาล การดูแลผู้ป่วย และให้บริการด้านสุขภาพ และ 
6. กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งการที่สุขศาลาพระราชทานผ่านการรับรองคุณภาพการให้บริการสาธารณสุข ย่อมช่วยสนับสนุนให้การบริการเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัย และสามารถดูแลสุขภาพประชาชนและชุมชน ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค และการบําบัดรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งจัดการสุขภาพในพื้นที่ของตนได้อย่างยั่งยืน