ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์แจงสายพันธุ์โควิด CH.1.1 อาจหลบภูมิคุ้มกันจาก LAAB แต่แพร่หรือจับกับเซลล์ไม่ดีเท่า BN.1 ที่เป็นสายพันธุ์หลักในไทย เผยมีการพบในไทยบ้าง ไม่ได้พบมากขึ้น ส่วน XBB.1.5 ที่พบมากในอเมริกา ไม่พบในไทย เชื่อทั้ง 2 สายพันธุ์ไม่เบียด BN.1 ย้ำ LAAB ยังใช้ได้ผลในไทย จ่อยกเลิกตรวจเบื้องต้น เหลือแค่ถอดรหัสพันธุกรรม 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย ว่า จากระบบเฝ้าระวังสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. - 3 ก.พ. 2566 มีการตรวจเชื้อเบื้องต้น 94 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนในประเทศ 87 รายและต่างชาติ 7 ราย พบว่ายังเป็น BA.2.75 เป็นส่วนใหญ่ 82 ราย คิดเป็น 87.2% สายพันธุ์ BA.4/BA.5 8 ราย คิดเป็น 8.5% และสายพันธุ์อื่นที่ไม่ได้แยกตั้งแต่ชั้นต้นอีก 4.3% ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นศูนย์กลางวิเคราะห์สถานการณ์ติดตามเพื่อบอกว่าจะตอบสนองต่อโควิด 19 อย่างไร ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจาก GISAID เมื่อเดือน ม.ค. 2566 พบว่า มีที่ให้ความสนใจ 4 กลุ่มที่พบมากกว่าเพื่อน คือ BF.7 มีประมาณ 4.6% ทั้งโลก ซึ่งเคยเจอในบ้านเราเล็กน้อย , BQ.1 และลูกหลาน พบเยอะที่สุด 46.9% ลูกหลานที่พบเยอะสุดคือ BQ.1.1 ประมาณ 28.9% , BA.2.75 และลูกหลาน ภาพรวมเหลือประมาณ 13.9% ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย และ XBB และลูกหลาน อยู่ที่ประมาณ 16.3% 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เมื่อคนพูดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาว่า มี CH.1.1 ที่น่าสนใจ เพราะทำท่าว่าอาจจะหลบภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ที่บ้านเราใช้พอสมควร หรือใช้กับมันไม่ค่อยได้ผล จริงๆ เกิดมานานแล้วเมื่อ ก.ค. 2565 และเจอมากขึ้น ตอนนี้ 67 ประเทศ รวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งตัวนี้คือลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งมีตำแหน่งที่กลายพันธุ์เพิ่มที่ตำแหน่ง R346T , K444T , L452R , F486S ซึ่งสายพันธุ์นี้สูงในเชิงหลบภูมิ แต่การไปจับกับเซลล์ไม่ได้มากอะไร แต่ตัวอื่นๆ XBB.1.5 ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีเยอะมาก ค่อนข้างสูงในแง่หลบภูมิแต่น้อยกว่า CH.1.1 แต่จับเซลล์ได้ดีกว่า ส่วนบ้านเรา BN.1 ซึ่งเป็นลูกหลาน BA.2.75 ที่พบสูง 70-80% ของ BA.2.75 ทั้งหมดในไทย จับเซลล์ได้ดีกว่า แต่หลบภูมิน้อยกว่าเล็กน้อย 2 ตัวนี้เลยสูสี โอกาสที่จะเห็น XBB.1.5 หรือ CH.1.1 ที่เข้ามาเบียดอย่างรวดเร็วอาจจะไม่เกิดขึ้น 

สำหรับประเทศไทยเราเจอ CH.1.1 มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ขึ้นตามสภาพของมันและลดลงมา และมีกระดกขึ้นเล็กน้อย ซึ่งบ้านเราพบมากสุดคือ CH.1.1.3 ที่เป็นลูกหลาน 

"ประเทศไทยต้นปีที่แล้ว BA.1 พบมากสุด ถัดมาถูกเบียดเป็น BA.2 จากนั้น BA.5 เข้ามาแทนที่ ตอนนี้ก็ลดลงไป กลายเป็นวันนี้ BN.1 ตั้งแต่ ม.ค. 2566 ที่เข้ามาเป็นตัวหลักในประเทศไทย มี CH.1 มีพบบ้าง แต่ไม่ได้หนาขึ้น ดังนั้น LAAB ในบ้านเรายังใช้ ไม่ได้กระทบมาก แต่เจอ CH.1 ประสิทธิผลอาจจะลดลงเล็กน้อย แต่คนติด CH.1.1 ไม่ได้เยอะ ก็นยังสามารถใช้ LAAB ได้ต่อไป ส่วน XBB ยังไม่ได้เห็นอะไรมาก แต่ที่พบเพิ่มขึ้นอาจมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่จะจับตาดูว่าจะพบมากขึ้นเร็วหรือไม่" นพ.ศุภกิจกล่าว 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้มี 4 ประเทศที่เดินทางไปไม่ว่าสัญชาติไหนก็ต้องตรวจ RT-PCR ก่อน คือ จีน อินเดีย เนปาล และเมียนมา ดังนั้น ใครจะขึ้นเครื่องบินต้องตรวจ ซึ่งมีทั้งคนไทย คนจีนกลับบ้าน คนอินเดียกลับบ้าน และสัญชาติอื่นๆ โดยเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. - 3 ก.พ. 2566 ขณะนี้ตรวจ 2,022 ราย คนไทยติดเชื้อ 1.79% คนจีนเฉลี่ย 4.2% อินเดียไม่ค่อยเจอ แต่ตรวจน้อยกว่าชาติอื่น และสัญชาติอื่นๆ อีก 3.43% โดยทั้งหมดจะมาตรวจสายพันธุ์แต่ต้องใช้เวลาในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว

ส่วนแนวโน้มเป็นสัปดาห์ อัตราที่พบลดลงเกือบทั้งหมด อย่างสัญชาติอื่นๆ จากสัปดาห์แรกเคย 10 กว่า% ลดลงเหลือ 1% กว่าๆ สัญชาติจีนจาก 7% เหลือ 2% กว่า ไทยก็ลดลงสัปดาห์สุดท้ายไม่เจอด้วยซ้ำ สถานการณ์โดยรวมไม่น่าจะมีปัญหา และหากเป็นคนจีนที่จะเดินทางกลับไปแล้วตรวจว่าติด หากมาอยู่ระยะสั้นๆ ก็อาจจะติดมาจากบ้านเขาแล้วมาตรวจเจอตอนกลับบ้าน หากอยู่ยาว เช่น เกิน 10 วันก็อาจจะรับเชื้อในไทย ซึ่งไม่ได้แปลกเพราะคนไทยยังมีการติดเชื้ออยู่ 

"สรุป XBB.1.5 ที่ระบาดมากในอเมริกาและเราก็กลัว เพราะหลบภูมิได้ค่อนข้างสูง ยังไม่มีในบ้านเรา บ้านเรายังเป็น BN.1 มากที่สุด โดยเฉพาะ BN.1.3 ส่วน CH.1.1 ที่หลบภูมิ แต่จับกับเซลล์ได้ไม่ดี ก็พบบ้างในบ้านเรา สะสมประมาณ 200-300 ราย สถานการณ์ไม่ได้เยอะมากขึ้น เรายังเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งต่อไป หากมีปัญหาเราจะตรวจจับได้ เรารายงานไปยัง GISAID เสมอเพื่อให้ภาพสมบูรณ์ที่สุด" นพ.ศุภกิจกล่าว 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนไทยฉีดวัคซีนเยอะ อัตราความครอบคลุมค่อนข้างสูง หลายคนติดเชื้อไปแล้ว 1-2 ครั้ง ฉีดวัคซีนบวกติดเชื้อก็จะมีภูมิในระดับหนึ่ง วันนี้คนไข้ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลดลงชัดเจน ไม่ได้เป็นปัญหาเหมือนตอนกลางปี 2564 ที่มีเดลตา ทุกรายงานที่มีเป็นการรายงานเรื่องการแพร่ แต่ไม่มีเรื่องความรุนแรงอะไรที่เพิ่มจากโอมิครอน หรือมีการกลายพันธุ์จนรุนแรงขึ้น ตายเร็วขึ้น ยังไม่มีข้อมูลพวกนี้ คือ ไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่อาจแพร่เร็วขึ้น ส่วนกรณีคนสูงอายุมากๆ ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ยังต้องระวัง เพราะทำให้มีอาการหนักได้ บางประเทศในยุโรปมีนโยบายว่า ถ้าแข็งแรงดีไม่ต้องฉีดบูสเตอร์ก็ได้ แต่เป็นประเทศส่วนน้อย 

ถามว่ายังต้องเฝ้าระวังไปถึงเมื่อไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เข้าใจว่ายังต้องอยู่กับเขาไปอีกพักหนึ่งใหญ่ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีอะไร ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยหลักการของไวรัส ยิ่งติดเชื้อคือเพิ่มจำนวนในคนใหม่มากขึ้นเท่าไร โอกาสผิดเพี้ยนไปจากเดิมก็มี แต่การผิดเพี้ยนถ้ายังวนๆ แบบนี้ ความรุนแรงไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแล้ว กรมวิทย์ก็แพลนว่าการตรวจเบื้องต้นที่แยกเป็นกล่องใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีประโยชน์ อาจรอ 1-2 สัปดาห์เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว การไปตรวจเยอะในชั้นต้นอาจต้องออกแรงมหาศาล ซึ่งไม่มีความจำเป็นในตอนนี้ ยกเว้นหากมีสัญญาณว่าวันนี้มีตัวหนึ่งเป็นปัญหาอาจจะต้องทำตรวจชั้นต้นต่อ