ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมวิจัย ม.อ. เผยผลศึกษา “ผู้ป่วยปอดบวมจากการติดเชื้อโควิด-19” กลุ่มเสี่ยงวัณโรคถึง 7 เท่า ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ  ด้านกรมควบคุมโรค สปสช.เร่งหารือคัดกรองเชื้อ ขณะที่ “อ.วีระศักดิ์” เผยวัณโรครักษาได้ ต้องรีบคัดกรอง เหตุไม่สามารถแยกจากการสังเกตอาการ เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่แสดงอาการ แต่หากป่วยไว้ วัณโรคจะอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิต และแพร่เชื้อไปยังบุคคลข้างเคียงได้เช่นกัน

 

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิดประมาณ 4.7 ล้านคน แต่จะมี 2% ที่มีอาการปอดบวม หรือประมาณ  9 หมื่นถึงแสนคน โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มนี้มีความเสี่ยงจะเป็นวัณโรค จึงควรได้รับการคัดกรอง...”  ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) เผยถึงผลการศึกษาของทีมวิจัย ม.อ. จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นานาชาติ eClinic Lancet  ซึ่งเป็นวารสาร ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก

ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าว เป็นการศึกษาร่วมกับของทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ดร.นพ.พลกฤต ขำวิชา สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โดยมี ศ.นพ.วีระศักดิ์  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยจากข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการปอดอักเสบ มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคสูงถึง 7 เท่า ของคนปกติ โดยศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และ อัลฟ่า ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา จำนวนประมาณ 2 หมื่นกว่าคน  

ศ.นพ.วีระศักดิ์ อธิบายกับทาง Hfocus ว่า การศึกษาครั้งนี้มาจากระหว่างทำการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค พบว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเคยติดเชื้อโควิดมาก่อน จึงสงสัยว่า สองโรคนี้มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ จึงได้เข้าไปศึกษาข้อมูลขนาดใหญ่ของเขตสุขภาพที่ 12 ทำให้พบสองข้อมูลสำคัญ  คือ ข้อมูลโควิด และข้อมูลผู้ติดเชื้อวัณโรค จึงนำสองข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งพบว่า กลุ่มที่เคยติดเชื้อโควิดและมีอาการปอดบวม พบอัตราเสี่ยงในการเป็นวัณโรคหลังจากออกโรงพยาบาลไปแล้ว 30 วันขึ้นไป โดยพบความเสี่ยงถึง 7 เท่ามากกว่าคนไม่ได้ติดเชื้อโควิด ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นานาชาติ eClinic Lancet   

“ความสำคัญของการค้นพบ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิดประมาณ 4.7 ล้านคน แต่จะมี 2% ที่มีอาการปอดบวม หรือประมาณ 4.7 หมื่น ไปจนถึงราว  9 หมื่น ถึงแสนคน ซึ่งมีความเสี่ยงจะเป็นวัณโรค  จึงควรได้รับการคัดกรอง เพราะทุกวันนี้จะเข้าใจว่าอาจเป็นลองโควิด  แต่ปรากฎว่าเป็นวัณโรค ซึ่งหากลุกลามก็อันตราย  ทั้งๆที่วัณโรคเป็นโรคที่รักษาได้”

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคนที่ไม่มีอาการแต่เคยติดโควิดและมีอาการปอดบวมต้องทำอย่างไร  ศ.นพ.วีระศักดิ์ อธิบายว่า  ล่าสุดกรมควบคุมโรค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กำลังหารือกันว่าจะต้องเชิญมาคัดกรองอย่างไร  โดยการคัดกรองเป็นไปได้ว่าจะอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากวัณโรคเป็นปัญหาทางสาธารณสุข  เพราะหากมีคน 1 คนติดวัณโรคสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ ซึ่งหากไม่รักษา เชื้อก็จะยังอยู่ในร่างกายตลอด จนกระทั่งเสียชีวิต และระหว่างนั้นจะแพร่เชื้อไปได้อีก 9 คน ดังนั้น หากรักษาเร็วก็จะจบในตัวเอง

เมื่อถามถึงการค้นพบดังกล่าว ทราบสาเหตุหรือไม่ว่า เพราะอะไรผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดบวมจึงมีความเสี่ยงเป็นวัณโรคมากกว่าคนปกติ  ศ.นพ.วีระศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า มีความเป็นไปได้ว่าช่วงป่วยโควิด ภูมิต้านทานของเราลดลง หรือปอดถูกทำลายบางส่วน ทำให้ภูมิต้านทานของปอดบางส่วนเสียหายได้ แต่จะฟื้นคืนหลังจากนั้นหรือไม่ ยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ติดตามเป็นเวลา 270 วัน แต่หลังจากนั้นต้องมีการติดตามต่อเนื่องต่อไป

“คนไทยประมาณ 20 ล้านคน จะมีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัวเรา เพราะฉะนั้นหากร่างกายอ่อนแอลง เชื้อก็จะฟื้นกลับมาได้ เช่น เบาหวาน หรือ HIV เพราะฉะนั้น เชื้อโควิดอาจมีส่วนทำให้เชื้อวัณโรค ที่หลบอยู่ข้างในแสดงตัวออกมา ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกัน  แต่ด้วยที่เราไม่ได้ไปตรวจผู้ป่วยว่า ช่วงที่ติดโควิดได้รับเชื้อวัณโรคหรือไม่ ทำให้ไม่มีข้อมูลตรงนี้  เนื่องจากการศึกษาหลักมุ่งไปที่การติดตามกลุ่มที่เคยป่วยเป็นโควิดที่มีอาการปอดบวมไปแล้ว จนพบว่ามีความเสี่ยงเป็นวัณโรคมากขึ้น”

ทั้งนี้ ศ.นพ.วีระศักดิ์ ย้ำว่า  สิ่งสำคัญผู้ป่วยโควิดที่มีปอดบวมและรักษาหายแล้ว ควรมีการคัดกรองเพื่อตรวจหาว่า มีเชื้อวัณโรคด้วยหรือไม่ ซึ่งโรคนี้รักษาได้ เชื้อดื้อยาก็น้อยลง เพราะระบบสาธารณสุขควบคุมได้ดี ดังนั้น ควรมารักษาให้เร็ว หากไม่มา และปล่อยไว้นานวัน ปอดก็จะถูกทำลาย อีกทั้ง เชื้อวัณโรคยังลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั้งกระดูก ลำไส้ ไต ทำให้มีอาการแทรกซ้อน จนเกิดความพิการ หนำซ้ำหากรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้   

“การแพร่เชื้อวัณโรคก็จะคล้ายๆ โควิด ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจได้ และหากไม่รักษาเชื้อจะอยู่นานไปจนตลอดชีวิต อย่างโควิด กักตัวไม่เกิน 5-7 วัน แต่วัณโรค ไม่สามารถกักตัวได้ เพราะอาการน้อย แทบไม่รู้ว่าใครเป็น และเป็นนาน เป็นภัยที่มองไม่เห็น  ปัจจุบันไม่มีวัคซีนป้องกันวัณโรค จึงอย่าเสี่ยง ควรรีบมารักษา..”

สำหรับสัญญาณบ่งชี้ว่ามีอาการวัณโรคนั้น ศ.นพ.วีระศักดิ์ อธิบายว่า  คนที่เป็นวัณโรคมี 2 ส่วน คือ 1.ไม่มีอาการ ไม่เจ็บป่วยใดๆ แต่เมื่อตรวจจะพบเชื้อ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ  มีฐานะยากจน มีปัญหาด้านสุขภาพ เบาหวาน ฯลฯ และ 2. กลุ่มไม่มีอาการจะประมาณครึ่งต่อครึ่ง โดยอาการจะมีไข้ ปวดหัว เป็นอาการที่เลียนแบบได้หลายโรค  บางคนไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่อาการพวกนี้ไม่ได้เกิดในผู้ป่วยทุกคน เกิดแค่บางคน ดังนั้น อาศัยอาการมาควบคุมโรคจึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรอง  

“ส่วนคนที่เคยป่วยโควิดและมีอาการปอดบวม เชื่อว่าในอนาคตทางภาครัฐ กรมควบคุมโรค  และสปสช. จะให้สิทธิในการตรวจคัดกรองกลุ่มนี้เป็นพิเศษเช่นกัน”..... ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

วัณโรค เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แต่ถ้าไม่รักษา ก็จะลุกลามเป็นภัยเงียบของระบบสาธารณสุขทันที...

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ผู้เชี่ยวชาญวัณโรคเตรียมพิจารณาเพิ่มคัดกรองปัจจัยเสี่ยง หลังทีม ม.อ.พบโควิดปอดบวมเสี่ยงวัณโรค)

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org