ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยคณะผู้เชี่ยวชาญวัณโรคเตรียมพิจารณาเพิ่มแนวทางคัดกรองปัจจัยเสี่ยง หลังผลศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ พบผู้ป่วยปอดบวมจากการติดเชื้อโควิดเสี่ยงวัณโรค 7 เท่า  

ตามที่ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) โดยมี ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็นประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เปิดเผยผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นานาชาติ eClinic Lancet  ทำการศึกษาวิจัยจากข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการปอดอักเสบ พบว่ามีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคสูงถึง 7 เท่า ของคนปกติ โดยศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และ อัลฟ่า ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา จำนวนประมาณ 2 หมื่นกว่าคน  โดยเสนอให้มีการคัดกรองความเสี่ยงดังกล่าวนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  “หมอวีระศักดิ์” เผยผลศึกษา ม.อ. พบผู้ป่วยปอดบวมจากการติดโควิด เสี่ยงวัณโรคถึง 7 เท่า )

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า ในภารกิจงานวัณโรคมีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว โดยบางเซ็ตติ้งอัตราพบวัณโรคจะสูงกว่าประชากรทั่วไป ตัวอย่างเช่นในเรือนจำ เพราะมีความเป็นอยู่ที่แออัดกว่าข้างนอก และอาจจะได้รับการวินิจฉัยช้า รวมไปถึงอาจมีประชากรบางส่วนภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทีมวิจัย ม.อ. ที่เจอว่ากลุ่มป่วยโควิดที่เป็นปอดบวม มีความเสี่ยงวัณโรคสูงด้วยนั้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มเข้ามาในการคัดกรองในอนาคตได้ เหมือนกรณีผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงวัณโรคมากกว่าคนทั่วไป ก็จะมีการจัดโปรแกรมในการคัดกรอง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของทีม ม.อ. เป็นข้อมูลทางภาคใต้ของเขตสุขภาพที่ 12 จึงควรดูข้อมูลว่า พื้นที่อื่นๆ จะมีสถานการณ์เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งต้องมีการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม แต่จริงๆ แล้วคนไทยจะได้การคัดกรองวัณโรคอยู่แล้ว หากมีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง เช่น ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง อย่างเบาหวาน เอชไอวี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น หรือกลุ่มที่อยู่ในเรือนจำที่มีความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับการคัดกรองสม่ำเสมอ

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า   ข้อมูลของทีม ม.อ. มีความน่าสนใจมากด้วยการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยโควิดทั้งที่ไม่มีอาการ มีอาการน้อยไม่มีภาวะปอดบวม และที่มีปอดอักเสบ จึงทราบว่า การป่วยปอดบวมจากโควิดเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดวัณโรค ซึ่งตรงนี้ต้องมีการติดตามข้อมูลในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย และจะมีการค้นหาข้อมูลในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งกรมควบคุมโรคมีการเฝ้าระวัง คัดกรองและติดตามการรักษา เพราะทุกปีเรามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่หลายหมื่นราย มีการตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงเจอทุกปี ทั้งที่มีอาการไข้ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ ตรงนี้มีการคัดกรองผู้ป่วยหลายกลุ่มโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน เอชไอวี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หากมีผู้ที่ป่วยจากโควิด ที่เสี่ยงพบวัณโรคเพิ่ม ก็สามารถเพิ่มเติมในแนวทางการคัดกรองว่า  ผู้ป่วยปอดบวมจากโควิดจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ซึ่งขอให้รอคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคพิจารณาว่าจะคัดกรองอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผู้ป่วยปอดบวมจากการติดเชื้อโควิดที่หายแล้ว หากต้องการไปตรวจคัดกรองสามารถไปได้เลยหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า หากไม่มีอาการใดๆ  ขอให้รอแนวทางก่อน แต่หากมีอาการไข้ ไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ให้มาตรวจได้ทันที เนื่องจากมีระบบการตรวจคัดกรองและรักษาอยู่แล้วที่โรงพยาบาลรัฐ

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง